วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทวิเคราะห์ - ภาวะผู้นำของเหมาเจ๋อตง



อารัมภบท


บทวิเคาะห์นี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาภาวะผู้นำ (Leadership) ในขณะที่กำลังเรียนหลักสูตรปริญญาโท XMBA) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงปีพ.ศ. 2554 เป็นการเขียนโดยอ้างอิงจากทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ได้ศึกษา โดยการศึกษาและวิเคราะห์จะอยู่ภายใต้เนื้อหาบทบาทและภาวะผู้นำของ เหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศจีนเข้าสู่ยุคใหม่ และเป็นปูพื้นการเมืองการปกครองของจีนอย่างที่เห็นทุกวันนี้

สำหรับหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในงานเขียนชิ้นนี้นั้น ใช้การอ้างอิงส่วนใหญ่จากหนังสือและเอกสารที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมไปถึงเนื้อหาออนไลน์อีกหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็แปลมาจากภาษาจีนทั้งสิ้น จึงถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองพอสมควร

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การออกเสียงสำเนียงชื่อบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ ของจีน ในที่นี้ถือเอาสำเนียงจีนกลาง (Mandarin Chinese) และกำกับด้วยการสะกดแบบพินอิน (Pinyin) เป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเขียนศัพท์ภาษาจีนเป็นตัวหนังสือไทยเพื่อให้ออกเสียงตรงกันอย่างไม่ผิดเพี้ยนนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น ผู้เขียนจึงพยายามเขียนให้ใกล้เคียงพอที่จะทำให้ผู้รู้ภาษาจีนพอเข้าใจได้ ยกเว้นบางชื่อเพียงสองหรือสามชื่อที่คนไทยเราคุ้นกันดีอยู่แล้ว ก็จะใช้การออกเสียงตามที่คนไทยคุ้นกันดี เช่น เซี่ยงไฮ้ แทนที่จะเป็น ซ่างห่าย เป็นต้น


หากมีข้อผิดพลาดในเชิงเนื้อหาและบทสรุป ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่งและขอน้อมรับความผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว




ประเทศจีนในศตวรรษที่ 20

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เป็นผลผลิตของการต่อสู้ที่ยากลำบากเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์จากการถูกกดขี่อันยาวนานจากอิทธิพลของต่างชาติ โดยเริ่มจากการเข้ามามีอิทธิพลของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมชาติตะวันตกนับตั้งแต่ที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นในปีค.ศ.1840 เรื่อยมาจนถึงยุคต้นของสาธารณรัฐจีนระหว่างค.ศ. 1912 ถึง 1949 ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเวลากว่า 100 ปี ที่จีนมีแต่ความแตกแยก ไร้ซึ่งเอกภาพ และตกอยู่ใต้อาณัติของประเทศที่มีกำลังเหนือกว่าตนมาโดยตลอด จนมีสถานะที่เรียกได้ว่า เป็นประเทศกึ่งอาณานิคม

นับตั้งแต่ราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูได้ล่มสลายลงในปีค.ศ.1911 ประเทศจีนตกอยู่ภายใต้การแก่งแย่งชิงดีกันของกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลายกลุ่ม เรียกว่า”ขุนศึก” (Warlord) ซึ่งโดยมากเป็นผู้นำทางทหารที่อยู่กระจัดกระจายตามมณฑลต่าง ๆ และยึดกุมอำนาจควบคุมกองทัพภูมิภาคเอาไว้หลังจากที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายไปแล้ว ขุนศึกเหล่านี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ การทูต มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากประชาชนที่อยู่ใต้การปกครองของตน และบ่อยครั้งที่ขุนศึกเหล่านี้รบกันเองเพื่อขยายอิทธิพลของตนเอง ซึ่งเป็นภาระอันหนักหน่วงของประชาชนที่ต้องถูกเกณฑ์กำลังพลและรีดภาษีอย่างหนักหน่วง ตลอดระยะเวลาในยุคขุนศึก ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 ถึง 1928 ขุนศึกเหล่านี้ต่างมีสัมพันธ์ทางการทูตกับมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น และร่วมมือกันดูดกลืนทรัพยากรของจีนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยที่ประชาชนไม่ได้รับสวัสดิการทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็น

ท่ามกลางภาวะการณ์ที่ประเทศได้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ นั้นเอง มีพรรคการเมืองที่สำคัญในจีน 2 พรรคซึ่งมีปณิธานสำคัญที่จะทำการปฏิวัติการเมืองและสังคมเพื่อให้จีนได้ปลดแอกจากความแตกแยกและสถานะแห่งความเป็นกึ่งอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก พรรคแรกคือพรรคกั๋วหมินต่าง (Pinyin: Guomindang, Abbreviation: GMD) ซึ่งก่อตั้งโดย ดร. ซุนอี้เซียน (Pinyin: Sun Yixian) หรือซุนยัตเซ็น โดยยึดถือปรัชญาชาตินิยมในการปฏิวัติประเทศ อีกพรรคหนึ่งคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (Communist Party of China, Abbreviation: CPC) ซึ่งยึดถือหลักปรัชญาของ มาร์กซ-เลนิน ในการปฏิวัติ ทั้ง 2 พรรคในระยะต้นได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือกันดำเนินแนวทางในการกวาดล้างขุนศึกทั้งหลาย และรวบรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและการทหารจากสหภาพโซเวียตในขณะนั้น พรรคกั๋วหมินต่างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการปราบปรามขุนศึกภาคเหนือ (Northern Expedition) เนื่องจากพรรคกั๋วหมินต่างและคอมมิวนิสต์ได้มีการร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยหวงผู่ (Pinyin: Huángpŭ Jūnxiào) ที่เมืองกว่างโจว (Pinyin: Guangzhou) ในปีค.ศ. 1924 ตามคำแนะนำของสหภาพโซเวียต เพื่อผลิตนายทหารที่มีคุณภาพเพื่อเตรียมพร้อมในภารกิจรวบรวมประเทศ และเริ่มต้นยุทธการปราบปรามขุนศึกภาคเหนือ นำทัพโดย เจี่ยงเจี้ยสือ (Pinyin: Jiang Jieshi) หรือเจียงไคเช็ค จนเป็นผลสำเร็จในปีค.ศ. 1926-1928

อย่างไรก็ดี สภาวะพันธมิตรระหว่างพรรคกั่วหมินต่างและพรรคคอมมิวนิสต์มีอายุอันสั้น นับตั้งแต่ดร.ซุนอี้เซียนเสียชีวิตในปีค.ศ. 1925 เจี่ยงเจี้ยสือ ได้สืบทอดอำนาจการบริหารพรรคต่อมา และใช้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรง โดยเริ่มจากขับไล่สมาชิกพรรคกั๋วหมินต่างปีกซ้าย ซึ่งเป็นซีกการเมืองภายในพรรคซึ่งมีสมาชิกบางคนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาเดียวกัน และเริ่มกวาดล้างฐานที่มั่นทางการเมืองและการทหารของคอมมิวนิสต์ในเมืองต่าง ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ หวู่ฮั่น หนานชาง และหนานจิง และตอบโต้ทางยุทธศาสตร์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ที่มักจะใช้การปลุกระดมพลจากประชาชนที่มีชนชั้นเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในดำเนินการสไตรค์ นัดหยุดงาน หรือก่อความวุ่นวาย ด้วยความเหี้ยมโหด ส่วนกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1927 ก็อยู่ในสภาพที่ล้มลุกคลุกคลาน ประสบความพ่ายแพ้ในการรบกับทหารของกั๋วหมินต่างหลายครั้ง ความไม่มีเอกภาพของกองทัพแดงส่วนหนึ่งมาจากการบริหารภายในของพรรคคอมมิวนิสต์เอง ที่ยึดถือแนวทางการปฏิวัติของโซเวียตอย่างตายตัว โดยให้มีศูนย์กลางของการปฏิวัติจากในตัวเมืองเป็นหลัก พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปีค.ศ. 1927-1935 เกือบจะต้องล่มสลายอยู่หลายครั้ง

ในภาวะที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังเสียเปรียบในทุกด้านนั้นเอง เหมาเจ๋อตง (Pinyin: Mao Zedong) ได้เริ่มมีบทบาทในฐานะผู้นำคนสำคัญของพรรค โดยเริ่มจากการริเริ่มสร้างฐานที่มั่นในเขตชนบทห่างไกล ที่การคมนาคมไม่สะดวกและยากต่อการเข้าถึงของทหารกั๋วหมินต่าง และเริ่มปลุกระดมมวลชนที่เป็นชนชั้นชาวนาให้รับเอาปรัชญาของคอมมิวนิสต์ ต่อมาเหมาเจ๋อตงได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีค.ศ. 1934 และได้นำพาให้พรรคคอมมิวนิสต์รอดพ้นจากการกวาดล้างของกั๋วหมินต่างในช่วงที่วิกฤตที่สุด รวมไปถึงการนำกองทัพแดงของพรรคเข้าร่วมต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1936-1945) อีกทั้งนำกองทัพปลดแอกประชาชน (เดิมคือกองทัพแดง) ไปสู่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกองทัพปฏิวัติของกั๋วหมินต่างในสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1946-1949) หลังจากที่เหมาเจ๋อตงได้นำพรรคคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ยังได้นำกองทัพอาสาสมัครประชาชนของจีนเข้าร่วมรบกับกองทัพของเกาหลีเหนือในสงครามเกาหลี เพื่อต่อสู้กับ”จักรวรรดินิยมอเมริกา” เหมาเจ๋อตงยังมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มนโยบาย”เศรษฐกิจก้าวกระโดด” (ค.ศ. 1959-1962) และการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) ดังนั้นจะเห็นว่า บทบาทและภาวะผู้นำของเหมาเจ๋อตงในยุคที่จีนต้องตกอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างยาวนานนั้น ควรค่าต่อการนำมาศึกษา เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในคุณสมบัติภาวะผู้นำในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งในภาครัฐและเอกชน 


ประวัติโดยย่อของเหมาเจ๋อตง
           
            เหมาเจ๋อตง (26 ธันวาคม 1893 – 9 กันยายน 1976) เป็นทั้งนักปฏิวัติ เสนาธิการทหาร กวี ผู้คิดค้นทฤษฎีการเมือง และเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เหมาเจ๋อตงยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้ก่อตั้ง บิดา และผู้นำสูงสุดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาประเทศมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1949 อีกทั้งกุมอำนาจการปกครองเบ็ดเสร็จเหนือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงวาระแห่งอสัญกรรมในปีค.ศ. 1976

เริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนในปีค.ศ. 1910 จากนั้นไม่นานก็เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนของดร.ซุนอี้เซียน (การปฏิวัติซินไฮ่ ค.ศ. 1911) จึงลาออกจากโรงเรียนมาสมัครเข้ากองทหารปฏิวัติ หลังจากนั้นในปีค.ศ. 1913 ก็สอบเข้าเรียนวิทยาลัยฝึกหัดครูที่หูหนาน เนื่องจากเหมาเจ๋อตงเป็นนักศึกษาที่ขยันเรียน และสนใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม เคยได้เข้าร่วมในการต่อสู้การคัดค้านหยวนซื่อข่าย (Pinyin: Yuan Shikai) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีเผด็จการในสมัยนั้น และเริ่มได้รับอิทธิพลทางความคิดลัทธิมาร์กซ์ หลังจากนั้นได้เข้าเป็นนักศึกษาไม่เต็มเวลาในมหาวิทยาลัยเป่ยจิง และเข้าทำงานที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือด้านปรัชญาการเมืองในลักษณะต่าง ๆ มากขึ้น และในที่นี้เองที่เหมาเจ๋อตงได้มีโอกาสได้รู้จักกับปรัชญาคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก


ในปีค.ศ. 1920 ได้เป็นครูสอนที่โรงเรียน และเปิดโรงเรียนกลางคืนสอนเยาวชนที่ด้อยโอกาส และจัดตั้งหน่วยลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้น ต่อมาเหมาเจ๋อตงแต่งงานกับหยางคายฮุ่ย ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาชนกับเขา ทว่าต่อมาถูกพรรคกั๋วหมินต่างจับกุมได้และถูกประหารชีวิตในปีค.ศ. 1930 ต่อมาในปีค.ศ. 1921 เหมาเจ๋อตงอายุได้ 27 ปี เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสมัยที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ที่เซี่ยงไฮ้ และได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เขตมณฑลหูหนาน นำการเคลื่อนไหวในกลุ่มกรรมกร และชาวนาอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่เขาเป็นกรรมการกลางนำการเคลื่อนไหวชาวนาของพรรค ได้เสนอแนวทาง ยืนหยัดการนำของชนชั้นกรรมาชีพต่อการปฏิวัติประชาธิปไตย อาศัยพันธมิตรกรรมกรชาวนาเป็นพื้นฐาน โดยผ่านรายงานการสำรวจที่เหมาเจ๋อตงได้ลงพื้นที่ไปสำรวจด้วยตนเองในมณฑลหูหนาน เรียกว่า “รายงานสำรวจความเคลื่อนไหวของชาวนาในมณฑลหูหนาน”

หลังจากที่พ่ายแพ้ใน “การลุกฮือขึ้นต่อสู่ในหน้าเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง” ที่เมืองฉางซา (Pinyin: Changsha) มณฑลหูหนานในปีค.ศ. 1927 เหมาเจ๋อตงได้นำทัพที่หลงเหลือประมาณ 1,000 เศษไปสร้างฐานที่มั่นปฏิวัติแห่งแรกขึ้นที่เขาจิ่งกังซาน และได้บรรจบกับทัพของจูเต๋อ (Pinyin: Zhu De) หลินเปียว (Pinyin: Lin Biao) และเยี่ยถิง (Pinyin: Ye Ting) ที่แตกพ่ายมาจากการลุกฮือที่หนานชาง (Pinyin: Nanchang) มณฑลเจียงซีซึ่งตามมาสมทบที่จิ่งกังซาน ต่อมาเขาได้พัฒนาแนวทางยุทธศาสตร์การปฏิวัติของจีน คือ (1) การต่อสู้เพื่อทำการปฏิวัติจีนนั้น ต้องเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ (2) การต่อสู้นี้ต้องอาศัยชาวนาเป็นพื้นฐาน และฐานที่มั่นจะมีขึ้นได้ก็แต่ในบริเวณพื้นที่ ๆ ห่างไกลจากตัวเมือง (3) จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจปกครองท้องถิ่นก่อน (4) การต่อสู้ที่กล่าวมานี้ เป็นการต่อสู้ในระยะยาว[1] ซึ่งยุทธศาสตร์ของเหมาเจ๋อตงระยะนี้สามารถชี้นำการปฏิวัติจนได้รับผลสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี หลังจากที่ถูกกดดันอย่างหนักจากทัพของกั๋วหมินต่าง เหมาเจ๋อตงตัดสินใจที่จะนำกองทัพแดงไปสร้างฐานที่มั่นใหม่ที่ญรุ่ยจิน (Pinyin: Ruijin) ซึ่งอยู่ระหว่างแดนต่อแดนของมณฑลเจียงซีและฝูเจี้ยน ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่ามาก และตั้งหลักที่นั่นจนถึงปีค.ศ. 1934

จากนั้น เหมาเจ๋อตงและจูเต๋อก็ร่วมกันนำกองทัพแดงต้านการล้อมปราบครั้งใหญ่ของกั๋วหมินต่าง 4 ครั้ง ระหว่างปีค.ศ. 1930 -1933 เมื่ออำนาจการนำกองทัพถูกแยกชิงไปโดยกลุ่มลัทธิสุ่มเสี่ยงนำโดย หวางหมิง (Pinyin: Wang Ming) ซึ่งเป็นแกนนำพรรคและผู้นำกลุ่มนักศึกษาจบนอกที่เรียกว่า 28 บอลเชวิค ซึ่งมีอิทธิพลชี้นำคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรค ทำให้พ่ายแพ้การล้อมปราบครั้งที่ 5 จึงต้องละทิ้งฐานที่มั่น และเริ่มต้นการเดินทัพทางไกล 25,000 ลี้ไปทางเหนือในปี ค.ศ. 1934 ใช้เวลาทั้งสิ้น 368 วัน จากการที่การนำพรรคของหวางหมิงและกลุ่ม 28 บอลเชวิค ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดระหว่างการเดินทัพทางไกลนั้นเอง ที่ประชุมของพรรคที่ตำบลจุนอี้ (Zunyi Conference) ได้มีมติให้การนำพรรคและกองทัพแดงเป็นไปตามการนำของเหมาเจ๋อตง และในที่สุด ปีค.ศ. 1936 เหมาเจ๋อตงก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางการทหาร (เหมาได้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดจนถึงแก่กรรม) ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคในเชิงพฤตินัย

ถัดมา เหมาเจ๋อตงได้นำพรรค กองทัพแดง และประชาชนทำสงครามประชาชนต่อต้านญี่ปุ่นด้วยยุทธวิธี สงครามยืดเยื้อระหว่างปีค.ศ. 1937-1945 ทำให้ได้รับความเห็นใจและแรงสนับสนุนจากประชาชนจีนในพื้นที่ ๆ ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองเป็นอันมาก และระหว่างนี้เองที่เหมาเจ๋อตงมอบหมายให้เนี่ยญร๋งเจิน (Pinyin: Nie Rongjen) นำทัพจำนวน 3,000 คนไปสร้างฐานที่มั่นเขตแดนต่อแดน ซานซี-ชาร์ฮา-เหอเป่ย ซึ่งอยู่หลังแนวรบของกองทัพญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จในการสร้างแนวร่วมในเวลาอันสั้น ในระหว่างช่วงต่อต้านญี่ปุ่นนี้เอง ในปีค.ศ. 1943 เหมาเจ๋อตงก็ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องทุกสมัยจนถึงแก่อสัญกรรม

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว สงครามกลางเมืองในจีนระหว่างพรรคกั๋วหมินต่างและพรรคคอมมิวนิสต์ก็อุบัติขึ้นอีกครั้ง กินระยะเวลาระหว่างปีค.ศ. 19461948 เหมาเจ๋อตงได้นำกองทัพปลดแอกและประชาชนจีน (ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกองทัพแดงเดิม) ทำสงครามทำลายการรุกโจมตีของฝ่ายเจี่ยงเจี้ยสือ และเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกับแกนนำของพรรคให้เปิดฉากการสู้รบในยุทธการรุกใหญ่ 3 ครั้ง ทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนได้รับชัยชนะขั้นเด็ดขาด ทำการรุกไล่กองทัพปฏิวัติประชาชนและรัฐบาลของพรรคกั๋วหมินต่างจนต้องถอยไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน และสามารถยึดกุมอำนาจรัฐทั่วประเทศ

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1949 เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์ ได้จัดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมือง (Chinese  People’s Political Consultative Conference: CPPCC)[2] ซึ่งเป็นสภาที่จัดตั้งโดยดร.ซุนอี้เซียน โดยเชิญผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคในจีน รวมถึงพรรคกั๋วหมินต่างปีกซ้าย ในมาประชุมกันที่เป่ยผิง (Pinyin: Beiping) เพื่อเตรียมการสถาปนาประเทศจีนใหม่ ในฐานะประเทศใหม่ที่จัดตั้งโดยเจตนารมย์ของประชาชนทุกฝ่าย และมีการตกลงถึงเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น ชื่อประเทศ ธงชาติ เพลงชาติ นโยบายการเมือง นโยบายเศรษฐกิจ เป็นต้น พรรคการเมืองและบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มี พรรคกั๋วหมินต่างปีกซ้าย นำโดย หลี่จี้เซิน (Pinyin: Li Jishen) พรรคสันนิบาตประชาธิปไตยจีน นำโดย จางหลาน (Pinyin: Zhang Lan) มาดามซุนอี้เซียน ซ่งชิ่งหลิง (Pinyin: Song Qingling) ภรรยาดร.ซุนอี้เซียนผู้ล่วงลับ เป็นต้น การประชุมในครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของการก่อตั้งประเทศ เพราะแสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มีนโยบายที่จะกระทำการใด ๆ โดยอำเภอใจอย่างที่พรรคกั๋วหมินต่างเคยทำในหลายสิบปีที่ผ่านมา ในที่สุด เหมาเจ๋อตง ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949

หลังการตั้งประเทศจีนใหม่ เหมาเจ๋อตงได้นำพรรคและประชาชนปฏิบัติภาระหน้าที่อันหนักหน่วงในการปรับปรุงปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ การปฏิรูปที่ดิน ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประชาชาติ ปรับปรุงให้อุตสาหกรรมและวิสาหกิจที่สำคัญเป็นแบบสังคมนิยม ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับการคุกคามจากต่างประเทศ ระหว่างต้นทศวรรษที่ 50 จีนต้องทำสงคราม ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา หนุนช่วยเกาหลี

เนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดระหว่างช่วง “เศรษฐกิจก้าวกระโดด” (Great Leap Forward) ในระหว่างปีค.ศ. 1959-1962 และการเริ่มสูญเสียอำนาจภายในพรรคของเหมาเจ๋อตงระหว่างปีค.ศ. 1962-1966 จึงได้มีการดำเนินการเคลื่อนไหว “ปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) ในปีค.ศ. 1966 ซึ่งดำเนินการออกหน้าโดยกลุ่มหลินเปียวและกลุ่มเจียงชิง ซึ่งเข้าควบคุมการปฏิบัติงาน จนทำให้การเคลื่อนไหวขยายวงกว้าง จนเกินกว่าที่เหมาเจ๋อตงจะควบคุมได้ สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นเหมาก็ได้มองเห็นความผิดพลาด และพยายามยับยั้งความเสียหายแต่ก็ไม่เป็นผล การปฏิวัติวัฒนธรรมกินเวลายาวนานถึง 10 ปี[3]
      
       เหมาเจ๋อตงถึงแก่กรรมในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1976 ที่เป่ยจิง รวมอายุ 83 ปี และเป็นการสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปีเดียวกันนั้นเอง




[1] ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. เมษายน 2542
[2] วรศักดิ์ มหัทธโนบล. ครองแผ่นดินจีน พรรค ผู้นำ อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2554.
[3] กองบรรณาธิการ. Open Dragon China & East Asia Journal. No. 1. สำนักพิมพ์ open books. ตุลาคม 2547.


กุศโลบายในการยึดกุมมวลชนและผู้ใต้บังคับบัญชาของเหมาเจ๋อตง[1][2]

            จากการศึกษาเหมาเจ๋อตงซึ่งสามารถสร้างตัวจากความขาดแคลนยากไร้และเสี่ยงตาย กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุด-จุ้ยเกาหลิ่งซิ่ว (Pinyin: Zui gao ling xiu) ของสังคมจีนยุคใหม่นั้น พบว่าเขาได้ใช้กุศโลบายและยุทธศาสตร์ที่หลากหลายในการบริหารมวลชน ผู้ใต้บังคับบัญชา และกองทัพ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนั้น กุศโลบายหลักที่เหมาเจ๋อตงใช้นั้น ได้ถูกรวบรวมมาโดยสังเขปดังนี้

            ซื้อใจผู้คน – โซวหม่ายเญริ๋นซิน (Pinyin: Shou mai ren xin) เป็นแนวทางสำคัญที่เหมาเจ๋อตงเน้นใช้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในการรบยุคต้นที่กำลังทหารของพรรคยังมีน้อยมาก จำเป็นต้องหามวลชนสนับสนุนอย่างรวดเร็ว การซื้อใจคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนกว่าเรื่องอื่นโดยเฉพาะในเวลาที่กองทัพของกั๋วหมินต่างมีความเหนือกว่าทุกประตู วิธีการสำคัญที่เหมาเจ๋อตงได้น้ำใจคนคือการปรับทุกข์ผูกมิตร รับใช้ใกล้ชิด เกาะติดมวลชน ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “5 ร่วม” ได้แก่ ร่วมกิน ร่วมอยู่ ร่วมคิด ร่วมทำงาน ร่วมศึกษา เพื่อสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย จนกระทั่งประชาชนสนใจในอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์แล้วสมัครใจเข้าเป็นพวก ซึ่งเหมาเจ๋อตงจะไม่บีบบังคับใจใครให้มาเข้าขบวนการโดยที่เจ้าตัวไม่สมัครใจ

            สุภาพชอบธรรม – เหอชี่กงผิง (Pinyin: He qi gong ping) เหมาเจ๋อตงเน้นกับกองทัพอย่างเข้มงวดในเรื่องการทำตนให้สุภาพนอบน้อมต่อประชาชน เขากำชับอยู่เสมอว่า จะต้องทำตนให้สุภาพนอบน้อมและพร้อมที่จะสละตนเอง เพื่อปกป้องธำรงความยุติธรรมแก่ประชาชนทันทีเมื่อประสบเหตุการณ์ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐข่มเหงรังแก ส่วนคนในพรรคคอมมิวนิสต์ หากมีการกระทำใด ๆ อันเป็นการเบียดเบียนประชาชน เหมาเจ๋อตงจะไม่ลังเลที่จะเชือดคอไก่ให้ลิงดู-ซาจีจิงโหว (Pinyin: Sha ji jing hou) เพื่อตัดนิ้วร้ายออกโดยฉับพลัน ก่อนที่จะแพร่เชื่อลุกลามจนต้องตัดมือทิ้ง

            ร่วมแรงร่วมใจ ชั้นบนชั้นล่างเป็นหนึ่งเดียว หมายถึงการให้ความเคารพเชื่อถืออย่างเต็มที่ บริหารจัดการคนโดยปล่อยมือปล่อยอำนาจให้ไป และเพราะเหตุว่ามีแต่การให้ความเคารพผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอย่างเต็มที่ ให้ความเชื่อถือแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนในระดับสูง จึงจะสามารถดึงเอาความเอาการเอางานและลักษณะสร้างสรรค์ของผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเต็มที่ เช่นในกรณีสงครามเกาหลี เผิงเต๋อหวายรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพอาสาสมัครประชาชนจีน นำทัพไปรบในเกาหลี หลินเปียวเคยปฏิเสธหน้าที่นี้มาแล้วเมื่อได้รับทาบทามเพราะกลัวแพ้ แต่เหมาเจ๋อตงกับเผิงเต๋อหวายไม่กลัว ภาระของลัทธิสากลนิยมและการปกป้องจีนใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเผิงเต๋อหวายเข้าสู่สนามรบ ทุกครั้งที่เหมาเจ๋อตงมีคำสั่งหรือความเห็น มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “ขอให้พิจารณาตามสภาพ” หรือ “ปฏิบัติตามแต่จะเห็นสมควร” อยู่เสมอ

            ตกอยู่ในที่ตายจึงเป็น เป็นคำพูดของเหมาเจ๋อตงในเหตุการณ์ที่เจี่ยงเจี้ยสือใช้ 15 กองพลเพื่อระดมเข้าโจมตีเหยียนอาน มณฑลส่านซี ในปีค.ศ. 1946 ทำให้ที่ประชุมของพรรคเสนอให้ถอนตัวออกไปจากส่านซีเหนือและข้ามแม่น้ำหวงเหอไปทางตะวันออกจะปลอดภัยกว่า เหมาเจ๋อตงไม่เห็นด้วยและเสนอให้เคลื่อนย้ายวกวนภายในส่านซีเหนือ ตรึงกำลังศัตรูเพื่อรอคอยจังหวะ ตีโต้กลับ โดยหนึ่งในเหตุผลที่เหมาเจ๋อตงได้อธิบายต่อที่ประชุมคือ “จะต้องไปทางตะวันตก ทำดังนี้ก็จะอยู่นอกเหนือการคาดหมายของข้าศึก หาความปลอดภัยในพื้นที่อันตราย ตกอยู่ในที่ตายจึงเป็น” คำพูดคำนี้เองได้ให้กำลังใจแก่ทั่วทั้งพรรคและกองทัพทั้งหมดอย่างใหญ่หลวง ว่าแกนนำพรรคไม่มีความคิดทอดทิ้งพื้นที่ส่านซี จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดแห่งชัยชนะของยุทธภูมิตะวันตกเฉียงเหนือ

            หาสัจจะจากความเป็นจริง[3] คือการวินิจฉัยเหตุการณ์หรือปัญหาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ผ่านการอธิบายอย่างประณีต ชี้แจงอย่างมีเหตุมีผล วิเคราะห์อย่างวิภาษ จะสามารถยกระดับความเชื่อมั่นต่อการยืนหยัดในการแก้ปัญหาได้สูงขึ้น อย่างเช่นในกรณียุทธศาสตร์การต่อต้านญี่ปุ่น ที่แม้แต่มีคนส่วนหนึ่งในพรรคกั๋วหมินต่างแสดงความท้อแท้แล้วกล่าวว่า “อาวุธของจีนสู้เขาไม่ได้ รบไปก็แพ้” เหมาเจ๋อตงจึงได้ใช้ประสบการณ์ในการต่อต้านญี่ปุ่นมากว่า 10 เดือน ระหว่างค.ศ. 1936 มาทำการสรุปว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องค้นคว้าสงครามยืดเยื้ออย่างมีจุดหนัก” แม้ว่ากองทัพของจีนจะรบแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า เขายังยืนยันว่า “พฤติการณ์รุกรานของญี่ปุ่นทำความเสียหายและคุกคามประเทศอื่น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้รับความเห็นใจและการช่วยเหลือจากสากล ส่วนสงครามต่อต้านการรุกรานของจีนสามารถได้รับการสนับสนุนและความเห็นใจจากโลกอย่างกว้างขวาง” ฉะนั้น “ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ในครั้งสุดท้ายจะต้องไปแก้กันในสงครามยืดเยื้อ”  บทสรุปของเหมาเจ๋อตงข้อนี้ได้ให้คำตอบแก่ปัญหาที่ผู้คนทั้งหลายยังมองอะไรไม่ชัดในชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ได้รับการยกย่องและยอมรับจากคนทั้งหลายมากขึ้นทุกวัน

            รับอดีตเตือนอนาคต รักษาโรคช่วยคน เหมาเจ๋อตงมีความเห็นมาโดยตลอดว่า สำหรับสหายที่กระทำความผิด ขอแต่เขารับรู้ความผิด มีการวิจารณ์ตนเอง และแสดงว่าอยากจะแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ก็ควรมีท่าทีให้การต้อนรับ การปฏิบัติต่อคนที่กระทำความผิดด้วยเจตนาดี สามารถจะได้ใจคน สามารถสามัคคีคน”


[1] บุญศักดิ์ แสงระวี. ศิลปะการใช้คนของเหมาเจ๋อตง. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. พิมพ์ครั้งที่ 1. สิงหาคม 2548.
[2] เล่าชวนหัว. รบแบบเหมาเจ๋อตง. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์คุณธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. ตุลาคม 2553.
[3] บุญศักดิ์ แสงระวี. บทนิพนธ์เหมาเจ๋อตง ว่าด้วยปรัชญาและการใช้ปรัชญา. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. พิมพ์ครั้งที่ 1. พฤศจิกายน 2550.

 

ทฤษฎีที่นำมาใช้วิเคราะห์ภาวะผู้นำของเหมาเจ๋อตง[1]

การวิเคราะห์ภาวะผู้นำของเหมาเจ๋อตงนั้น อาจทำได้จาก 3 แง่มุม นั่นคือ (1) มุมมองทางด้านบุคคล หรือ Personality Perspective โดยสามารถวิเคราะห์ได้จาก Trait, Skill, Style Approach (2) ที่มาของอำนาจอันมีต่อมวลชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ Source Power และ (3) มุมมองด้านกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเหมาเจ๋อตงและมวลชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ Leader-Follower Process โดยสามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้ Authentic Leadership และ Transformational Leadership

Analysis from Personality Perspective

                จากการศึกษาประวัติของเหมาเจ๋อตง จะพบร่องรอยของ Leadership Trait ที่เขาได้แสดงออกจากหลายเหตุการณ์ ซึ่งลักษณะของ Trait Leadership ของเหมาเจ๋อตง มีตั้งแต่Drive for Achievement, Persistence in pursuit of goals, Originality in Problem Solving, Self-Confidence, Determination, and Ability to Influence other’s behavior ตามผลงานวิจัยของ Stogdill (ค.ศ. 1974) ซึ่งได้ปรากฏออกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1927 ที่เหมาเจ๋อตงได้เริ่มไปตั้งฐานที่มั่นที่เทือกเขาจิ่งกังซาน และดำเนินแนวทางการปฏิวัติที่ขับเคลื่อนโดยมวลชนชาวนาตามที่ได้เคยลงไปสำรวจด้วยตนเอง ซึ่งได้แสดงออกถึงความมั่นใจ และพลังมุ่งมั่นที่จะทำให้แนวทางการปฏิวัติของตนเป็นจริง แม้ว่าจะขัดกับแนวทางที่สหภาพโซเวียตและเสียงคัดค้านจากแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นก็ตาม อีกทั้งความสำเร็จของฐานที่มั่นจิ่งกังซานและญรุ่ยจิน ได้เป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จขั้นพื้นฐานที่ภายหลังสมาชิกพรรคได้ให้การยอมรับและนำไปเป็นแนวทางหลักของการปฏิวัติมวลชนในจีน

            ในด้านของ Skill Approach ของเหมาเจ๋อตงจะเห็นได้ในหลายมิติ นับตั้งแต่เขาได้เป็นผู้นำระดับกลางในพรรค ซึ่งต้องเน้นการใช้ทักษะทางด้านเทคนิค (Technical Skill) เป็นหลัก เช่น ในการจัดตั้งแนวร่วมในเซี่ยงไฮ้ หรือในมณฑลหูหนาน รวมไปถึงการจัดตั้งฐานที่มั่นในจิ่งกังซานและญรุ่ยจิน ในขณะเดียวกันก็ใช้ Human Skill ในการจัดตั้งและระดมมวลชนในพื้นที่ ให้มาเข้าร่วมกับการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อได้กุมอำนาจกองทัพระหว่างการเดินทัพทางไกลในห้วงที่วิกฤตที่สุด เหมาเจ๋อตงได้แสดงความสามารถด้าน Technical Skill อีกครั้งในการวางแผนและบัญชาการรบเพื่อฝ่าวงล้อมของกองทัพกั๋วหมินต่างออกไป จนกระทั่งเมื่อได้ไปตั้งหลักที่เหยียนอาน เหมาเจ๋อตงจึงได้ใช้ Conceptual Skill มากขึ้น ผ่านการเขียนบทความต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมเป็น “สรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตง” ได้ทั้งหมด 8 เล่มในภายหลัง
ึ่งกินเวลากว่า 10 ปีธรรมมาแล้ว วง และใครเลย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้น จากการปฏิวัติวัฒนธรรมมาแล้ว ่ตรงตามวัตถุประสงค์ร่วมของกลุ่ม

รูปที่ 1: “Skills of an Effective Administrator” by R.L. Katz, 1955.



            Style Approach ของเหมาเจ๋อตงค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากในช่วงแรกอำนาจในการบริหารพรรคไม่ได้อยู่ที่เหมาเจ๋อตงอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าภายหลังจะได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของพรรค ก็กลับมีปรากฏการณ์ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการปกครองพอสมควร อย่างไรก็ดี ควรประเมิน Style Approach ออกเป็นช่วงเวลาสำคัญ กล่าวคือ ยุคก่อนได้ยึดกุมอำนาจรัฐ และยุคหลังจากที่ได้ยึดกุมอำนาจรัฐแล้ว 

 ในที่นี้ เมื่อประเมินด้วย Blake & Mouton’s Managerial Grid แล้ว จะพบว่าในยุคแรกเหมาเจ๋อตงตกอยู่ใต้คำจัดความของ Paternalism ซึ่งในแต่ละสถานการณ์มีการดัดแปลงใช้สไตล์แบบ 1,9 (Country-Club Management) และ 9,1 (Authority-Compliance Management) สลับกันไปตามสภาวะเหตุการณ์ แต่จะไม่มีการบูรณาการของ 2 สไตล์นี้ อันที่จะทำให้เป็น Team Management เท่าไหร่นัก ซึ่งลักษณะแบบ Paternalism ของเหมาเจ๋อตงนี้เอง ทำให้อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็น “Benevolent Dictator” อีกด้วย เนื่องจากบางครั้งเหมาเจ๋อตงอาจจะแสดงออกถึงความใจกว้าง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และมอบหมายงานให้อย่างปล่อยมือ เช่นในกรณีของการมอบหมายให้เผิงเต๋อหวาย บังคับบัญชากองทัพอาสาสมัครประชาชนในสงครามเกาหลี แต่ในอีกโอกาส เขาก็จะใช้อำนาจในสายบังคับบัญชาสั่งการลงไป เพื่อให้แน่ใจว่าพรรคสามารถบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เช่น การออกคำสั่งให้กองทัพแดงที่นำโดยหลินเปียวที่เพิ่งเสร็จศึกจากยุทธการเหลียว-เสิ่นอย่างเหน็ดเหนื่อย ให้รีบยกข้ามเข้าไปยังด่าน
ซานห่ายกวนเพื่อยึดกุมความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ที่มีต่อกองทัพของกั๋วหมินต่าง และเป็นการเริ่มต้นในทันทีของยุทธการผิง-จิน

     รูปที่ 2: Blake and Mouton’s Managerial Grid

อย่างไรก็ดี พบว่าในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดกุมอำนาจรัฐ และเหมาเจ๋อตงขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศแล้ว Style Approach ของเหมาเจ๋อตงเปลี่ยนจาก Paternalism เป็นแบบ Opportunism ซึ่งมีการดัดแปลงใช้สไตล์การนำแบบลูกผสมจากสไตล์พื้นฐานทั้ง 5 แบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์เป็นหลัก ดังจากเห็นได้จากการที่เขาปล่อยให้กลุ่มเรดการ์ดทำการใด ๆ อย่างอำเภอใจโดยไม่ทักท้วง ซึ่งเป็นสไตล์แบบ Country-Club Management ในขณะที่อีกทางหนึ่ง เขาก็สั่งให้หลินเปียวและเจียงชิงจัดการด้านประชาสัมพันธ์โจมตี้หลิวซ่าวฉีและเติ้งเสี่ยวผิงตามสื่อต่าง ๆ อย่างหนักหน่วง ซึ่งเป็นสไตล์แบบ Authority-Compliance Management และต่อมาเมื่อเขาเห็นว่ากลุ่มเรดการ์ดทำการเกินเลยไปหลายอย่าง จึงทำให้เหมาเจ๋อตงร่วมมือกับโจวเอินไหลดึงเติ้งเสี่ยวผิงกลับมาช่วยงานปฏิรูปในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงเป็นสไตล์แบบ Team Management เมื่อดูจากภาพรวมแล้ว จึงกล่าวได้ว่า Style Leadership Approach ของเหมาเจ๋อตงในยุคนี้จึงเป็นแบบ Opportunism นั่นเอง

Analysis of Power

                อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของเหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องของแรงสนับสนุนจากมวลชน กองทัพ และผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งยินยอมพร้อมใจที่จะเดินตามแนวทางของเขาในการปฏิวัติให้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากซึ่ง “อำนาจ” หรือพลังดึงดูดในฐานะผู้นำ ที่ส่งผลให้ผู้ตามยินยอมปฏิบัติตามเจตนารมย์ต่าง ๆ ของเหมาเจ๋อตงด้วยความสมัครใจ ดังนั้นเมื่อนำโมเดลของ French & Raven’s Five Bases of Power (ค.ศ. 1959) มาพิจารณาแล้ว จะพบว่าเหมาเจ๋อตงมีองค์ประกอบของอำนาจครบทั้ง 5 ประการ แม้ว่าองค์ประกอบทั้ง 5 อย่างนี้จะไม่ได้มีครบมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ตาม ทั้งนี้ เราสามารถวิเคราะห์ Five Bases of Power ของเหมาเจ๋อตงได้ดังนี้

            ในด้านของ Referent Power ซึ่งเป็นหนึ่งใน Personal Power ของเหมาเจ๋อตงนั้น พบว่าเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ สร้างสมมาทีละน้อย โดยเริ่มเห็นเค้ารางตั้งแต่ที่เหมาเจ๋อตงได้นำกองทัพแดงมาตั้งฐานที่มั่นที่จิ่งกังซาน โดยมีผู้ช่วยเช่น จูเต๋อ หลินเปียว และเยี่ยถิง ทำการเคลื่อนไหวท่ามกลางมวลชนชาวนา และขยายฐานกำลังพลของกองทัพแดงขึ้นทีละน้อย ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยยันการจู่โจมจากกองทัพของกั่วหมินต่าง ทำให้เหมาเจ๋อตงสามารถเอาชนะใจและเริ่มได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนนับตั้งแต่นั้นมา ในด้านของผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อได้เห็นความสามารถการบัญชาการรบของเขา และความสำเร็จที่ค่อนข้างยั่งยืนของฐานที่มั่นจิ่งกังซาน ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความมั่นใจในแนวทางของเหมาเจ๋อตง และให้ความสนับสนุนแก่เขานับตั้งแต่นั้น แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการเมืองภายในพรรคซึ่งนำโดยหวางหมิงและกลุ่ม 28 บอลเชวิค ก็ตาม หลังจากนั้นจะพบว่า Referent Power ของเหมาเจ๋อตงขยายตัวขึ้นหลังจากการประชุมที่จุนอี้ ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคระหว่างการเดินทัพทางไกล ซึ่งแม้กระทั่งแกนนำพรรคบางคนซึ่งเคยอยู่ในกลุ่ม 28 บอลเชวิคเช่น โจวเอินไหล ก็หันมาสนับสนุนให้เหมาเจ๋อตงขึ้นมามีอำนาจในการบริหารพรรคในช่วงนั้น หลังสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1945 นับว่าเป็นช่วงที่ Referent Power ของเหมาเจ๋อตงพุ่งไปสู่จุดสูงสุด กล่าวคือ เขาได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนส่วนใหญ่ในประเทศระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองกับพรรคกั๋วหมินต่าง เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้แสดงความจริงใจอย่างชัดแจ้งที่จะต่อต้านญี่ปุ่นในระหว่างปีค.ศ. 1936-1945 ในระหว่างที่พรรคกั๋วหมินต่างต่อสู้แบบ “ขอไปที” อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋นของพรรค ซึ่งประกอบไปด้วยแม่ทัพของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ จูเต๋อ เผิงเต๋อหวาย หลินเปียว หลิวป๋อเฉิง เฮ่อหลง เฉินอี้ เนี่ยญร๋งเจิน เยี่ยเจี้ยนอิง และฝ่ายบุ๋นซึ่งประกอบไปด้วย โจวเอินไหล หลิวซ่าวฉี เฉินหยุน และเติ้งเสี่ยวผิง

            Expert Power ของเหมาเจ๋อตงแม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนในช่วงแรก แต่เริ่มเปล่งประกายตั้งแต่ที่เหมาเจ๋อตงได้เสนอรายงาน “รายงานสำรวจความเคลื่อนไหวของชาวนาในมณฑลหูหนาน” ต่อกรรมการกรมการเมืองของพรรค ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่า เหมาเจ๋อตงมีความเข้าใจที่แท้จริงต่อสถานการณ์ความเป็นจริงในจีน อีกทั้งยังเสนอแนะแนวทางการปฏิวัติมวลชนภายใต้ลัทธิมาร์กซ์-เลนินได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ของประเทศในยุคนั้น และได้พิสูจน์ให้เห็นอีกทอดหนึ่งจากผลสำเร็จของฐานที่มั่นจิ่งกังซานและญรุ่ยจิน ทำให้ความเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการเมืองและการปฏิวัติของเขาได้รับการยอมรับ อีกทั้งเมื่อเหมาเจ๋อตงได้นำกองทัพแดงฝ่าวงล้อมต่าง ๆ ของกองทัพของเจี่ยงเจี้ยสือระหว่างการเดินทัพทางไกล ก็เป็นที่ยืนยันอีกจุดหนึ่งถึงความเชี่ยวชาญในทักษะการวางกลยุทธในการรบของเหมาเจ๋อตงอย่างเป็นที่ประจักษ์ อย่างไรก็ดี Expert Power ของเหมาเจ๋อตงมิได้ครอบคลุมไปถึงด้านการบริหารเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่เขาไม่สันทัดในด้านนี้ บวกกับความเชื่อมั่นอย่างสูงในระบบเศรษฐกิจแบบคอมมูน ทำให้เขาเกิดความใจร้อนที่จะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจนเกินความสามารถของปัจจัยพื้นฐานของประเทศ อันเป็นที่มาของนโยบายเศรษฐกิจก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่างไม่สัมฤทธิ์ และล้มเหลวอย่างรุนแรงในภายหลัง

            Legitimate Power ของเหมาเจ๋อตงสามารถมองได้เป็น 2 มิติ กล่าวคือมิติในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ และในมิติของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ได้รับอำนาจ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” จากประชาชน ในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ได้มาจากการประชุมที่จุนอี้ระหว่างการเดินทัพทางไกลในค.ศ. 1934 และได้มาอย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งปีต่อไปในการประชุมสมัชชาใหญ่เต็มคณะของพรรคที่เหยียนอานในค.ศ. 1935 เป็นที่น่าสังเกตุว่า เหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำโดยพฤตินัยอยู่แล้วตั้งแต่ค.ศ. 1927 เมื่อเขาปักหลักอยู่ที่ฐานที่มั่นจิ่งกังซานและญรุ่ยจิน แม้ว่าแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จะเข้ามาช่วงชิงอำนาจการนำฐานที่มั่นระหว่างปีค.ศ. 1930-1934 ก็ตาม ส่วน Legitimate Power ในฐานะที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับอาณัติให้เป็นผู้นำของพรรคการเมืองทั้งหลาย ให้รับอำนาจ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของประชาชน ได้มาจากการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมือง (CPPCC) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1949 ที่เป่ยผิง และได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากทุกภาคส่วน นับตั้งแต่พรรคการเมืองอื่น ๆ เช่น พรรคกั๋วหมินต่าง (ปีกซ้าย) พรรคสันนิบาตประชาธิปไตยจีน หรือกระทั่งจากบุคคลสำคัญของประเทศเช่น มาดามซุนอี้เซียน (ซ่งชิ่งหลิง) จึงทำให้การก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความชอบธรรมจากทุกส่วน มิใช่เป็นเพียงประเทศที่ก่อตั้งได้เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมืองเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะอยู่ในวิสัยที่พรรคสามารถทำได้ก็ตาม

            Reward Power ในที่นี้ มักจะอยู่ในมิติแห่งความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำโดยเหมาเจ๋อตง กับมวลชนชาวจีนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการปฏิวัติ เนื่องจากสภาพที่ยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัสในยุคขุนศึกและยุคสาธารณรัฐจีนของพรรคกั๋วหมินต่าง อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชนชั้นชาวนาและกรรมกรได้เป็นอย่างดี และเป็นอุดมการณ์ที่สามารถทำให้ผู้คนเห็นภาพของสังคมในฝัน ที่ปราศจากชนชั้น ทุกคนทำงานร่วมกันและแบ่งผลผลิตหรือผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้มวลชนต่างมาเข้าร่วมกับการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันมาก ด้วยความหวังที่ว่า จะมีการปฏิรูปที่ดิน โดยเอาที่ดินของคนรวยมาให้คนจน และทุกคนจะมีโอกาสในการดำรงชีวิตด้วยความผาสุขเท่า ๆ กัน ปราศจากการกดขี่จากชนชั้น “นายทุนขูดรีด” “ชาวนารวย” หรือ “เจ้าที่ดิน” ทั้งนี้ การสื่อสารให้มวลชนได้เห็นภาพเหล่านี้เป็นผลงานของผู้ปฏิบัติงานภาคสนามของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกว่า Commissar ที่กระจายตัวอยู่ในชุมชนต่าง ๆ และเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ภายใต้การชี้นำของกรรมการกลางของพรรค

                Power ด้านสุดท้ายที่นำมาพิจารณาคือ Coercive Power ของเหมาเจ๋อตง ซึ่งมักจะกระทำโดยผ่านธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีข้อปฏิบัติเรื่อง การวิจารณ์ตนเอง และการวิพากษ์ผลงานของผู้อื่น และจะกระทำเฉพาะเวลาที่มีการประชุมพรรคอย่างเป็นทางการเท่านั้น เช่น ในการประชุมที่จุนอี้ระหว่างการเดินทัพทางไกล เหมาเจ๋อตงได้วิพากษ์ผลการปฏิบัติงานของหวางหมิง หลี่เต๋อ และกลุ่ม 28 บอลเชวิค ที่ผิดพลาดมาโดยตลอดและเกือบจะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องล่มสลายจากการล้อมปราบของเจี่ยงเจี้ยสือ ในขณะที่โจวเอินไหลเอง แม้จะเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม 28 บอลเชวิค ก็มีการวิจารณ์ตนเองในที่ประชุมจุนอี้เช่นเดียวกัน และโจวเอินไหลก็หันมาสนับสนุนแนวทางของเหมาเจ๋อตงอย่างเปิดเผย และเป็นกำลังสำคัญของเหมาเจ๋อตงในการปฏิวัติในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม จะพบว่าเหมาเจ๋อตงได้เลือกที่จะใช้ Coercive Power ของตนมากเกินความจำเป็น และที่สำคัญคือ ได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้อำนาจด้านพระเดชที่ไม่ถูกต้องของเหมาเจ๋อตง อันทำให้เกิดความยุ่งยากหลายประการในช่วง 10 ปีของการปฏิวัติวัฒนธรรม

Analysis from Leader-Follower Process Perspective

                การวิเคราะห์ภาวะผู้นำในเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามในกรณีเหมาเจ๋อตงนั้น อาจนำทฤษฎีที่หลากหลายมารองรับ ขึ้นอยู่กับการแสดงออกในแต่ละเหตุการณ์ของเขาเอง อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะขอยกเฉพาะทฤษฎีที่เห็นว่า เป็นแก่นแห่งการขับเคลื่อนและชี้นำความสำเร็จในการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์และในการบริหารประเทศหลังจากที่ได้อำนาจรัฐมาแล้วเท่านั้น ซึ่งมีโดดเด่นอยู่ 2 ทฤษฎี นั่นตือ Authentic Leadership และ Transformational Leadership

                กล่าวถึง Authentic Leadership อันเป็นเครื่องมือบ่งบอกความเป็น “ของแท้” ของผู้นำนั้น ๆ แล้ว นับว่าเป็นทฤษฎีที่เหมาะสมที่สามารถนำมารองรับกับภาวะผู้นำของเหมาเจ๋อตงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อมองในนิยามของ Intrapersonal Definition แล้ว พบว่าเหมาเจ๋อตงได้แสดงออกถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ครบทั้ง 4 ประการ กล่าวคือ (1) Exhibit genuine leadership ในแง่ที่ว่า เขาไม่รอฟังคำสั่งของสหภาพโซเวียตเพียงอย่างเดียว ดังที่มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า “ลัทธิลอกตำรา” แต่ใช้วิจารณญาณของตนในการปรับเปลี่ยนการนำตามความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของจีนเองด้วย (2) Lead from Conviction หรือการนำจากสำนึกความถูกต้อง ซึ่งเขาแสดงออกให้ทุกฝ่ายเห็นโดยตลอดว่า การปฏิวัติของจีนควรขับเคลื่อนโดยมวลชนชาวนา และต้องใช้ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง ผนวกกับการรบแบบจรยุทธ จึงจะประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าเหมาเจ๋อตงเคยมีความขัดแย้งกับแกนนำพรรคในเรื่องนี้ระหว่างปีค.ศ. 1930-1934 และถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการกลางของพรรคก็ตาม เขายังยืนกรานในหลักการเดิม จนกระทั่งได้รับการพิสูจน์ต่อมาว่าสิ่งที่เขาเชื่อมั่นนั้นถูกต้อง (3) Leaders are original, not copies หรือแสดงออกซึ่งความเป็นของแท้ ไม่ลอกเลียนแบบ ซึ่งเหมาเจ๋อตงก็ได้แสดงออกมาโดยตลอด ถึงแนวทางในการนำ ซึ่งต้องเน้นสัมพันธ์กับมวลชนชาวนา ซึ่งถือว่าเป็นมวลชนระดับล่าง ทำการดัดแปลงการสื่อสารต่าง ๆ ให้ชาวนาเข้าถึงและเข้าใจ ต่างกับผู้นำคนก่อน ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ส่วนใหญ่ศึกษาจากต่างประเทศ และสะดวกใจที่จะใช้สไตล์การนำแบบผู้ดีมากกว่า ซึ่งนี่เป็นจุดต่างของเหมาเจ๋อตงกับผู้นำรุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด (4) Base their actions on their values ซึ่งคือการยึดหลักการปฏิบัติให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ยึดมั่น ในกรณีเหมาเจ๋อตง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การรบแบบจรยุทธ ใช้มวลชนชาวนาเคลื่อนไหว ต่อต้านญี่ปุ่น ต่างก็มีแผนปฏิบัติที่นำยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นฐานการพิจารณาอยู่เสมอ


รูปที่ 3: Bill George’s Authentic Leadership Characteristics

            เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้ง พบว่า Authentic Leadership ของเหมาเจ๋อตงยังมีความสอดคล้องกับ Bill George’s Authentic Leadership Approach อีกด้วย เนื่องจากเขาได้แสดงออกผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้สะท้อนถึง Passion, Behavior, Connectedness, Consistency, และ Compassion ยกตัวอย่างเช่น ในการนำการเดินทัพทางไกล แสดงออกถึง Passion ที่ไม่ยอมแพ้ รวมไปถึงการกระทำตนให้เป็นแบบอย่างของ Behavior ที่สอดคล้องกับ Value เช่นในกรณี “ตกอยู่ในที่ตายจึงเป็น” จึงทำให้ซื้อใจผู้ตามอย่างได้ผล อีกทั้งในกรณีของ “ร่วมแรงร่วมใจ ชั้นบนชั้นล่างเป็นหนึ่งเดียว” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและสะท้อนถึง Connectedness ได้เป็นอย่างดี ในด้านของ Consistency เหมาเจ๋อตงได้แสดงผ่านหลักปฏิบัติ “5 ร่วม” ซึ่งได้นำมาใช้โดยตลอดระยะเวลาแห่งการปฏิวัติ และสุดท้าย Compassion ซึ่งสะท้อนจากเหตุการณ์ “รับอดีตเตือนอนาคต รักษาโรคช่วยคน” ซึ่งไม่ตัดสินคนอื่นด้วยความผิดพลาดอย่างเดียว ตราบใดที่เขาเหล่านั้นได้สำรวจตนเองและยินดีแก้ไข ก็ให้การต้อนรับ ทั้งหมดนี้ต่างก็แสดงถึง Authentic Leadership ในตัวของเหมาเจ๋อตง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถนำพาให้พรรคคอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐ และไม่มีใครลอกเลียนแบบได้

ในด้านของ Transformational Leadership นั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเหมาเจ๋อตงได้นำคุณสมบัติเด่นต่าง ๆ ของตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีน ในที่นี้อาจพิจารณา Transformational Leadership ได้เป็น 2 มิติ กล่าวคือในมิติของ Charismatic Leadership และ Kouzes and Posner model

แม้จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี เหมาเจ๋อตงได้แสดงออกถึง Charismatic Leadership ผ่านทาง Personality Characteristics และ Behaviors อยู่หลายประการ เช่น Character ประเภท Dominant จากการที่เป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์การปฏิวัติที่ถูกต้อง ทำให้ผู้ตามเชื่อมั่น หรือ Desire to influence ซึ่งแสดงออกโดยการ Shows competence จากการนำการเดินทัพทางไกล ซึ่งต้องฝ่าฟันวงล้อมข้าศึกมากมาย หรือ Self-confidence ซึ่งเหมาเจ๋อตงแสดงออกมาจากการโต้เถียงในที่ประชุมพรรคที่จุนอี้ และ Strong moral values ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์ของการปฏิวัติ โดยไม่ยอมจำนนต่อรัฐบาลกั๋วหมินต่าง ญี่ปุ่น หรือจักรวรรดินิยมตะวันตก

และเมื่อวิเคราะห์จากโมเดลของ Kouzes and Posner แล้ว พบว่าเหมาเจ๋อตงเดินรอยตาม Five Fundamental Practices ของโมเดลนี้อย่างไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Model the way ที่เขาได้สื่อออกมาเป็นงานเขียนถึงแนวทางปฏิวัติไว้มากมาย หรือ Inspired a shared vision ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างในหลักการ “5 ร่วม” Challenge the process ที่เหมาเจ๋อตงตั้งคำถามกับแนวทางการปฏิวัติของสหภาพโซเวียตอย่างถึงแก่น และเสนอให้ใช้แนวทางที่เหมาะสมกับความเป็นจริงในจีน Enable Others to Act หรือการมอบหมายงานแบบปล่อยมือ เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีโอกาสได้ปลดปล่อยความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ และ Encourage the Heart ซึ่งก็คือการตบรางวัลให้แก่ผู้ที่สร้างผลงานโดดเด่น ในที่นี้ อาจรวมไปถึงที่เหมาเจ๋อตงเคยเขียนบทกวียกย่องเผิงเต๋อหวายเป็นพิเศษ ในการที่เผิงเต๋อหวายประสบความสำเร็จในการนำกองทัพอาสาประชาชนในสงครามเกาหลี


[1] Peter G. Northouse. Leadership theory and practice. Fifth edition. SAGE Publications, Inc., 2010


สรุปการเรียนรู้จากภาวะผู้นำของเหมาเจ๋อตง

เหมาเจ๋อตงเป็นบุคคลที่หาได้ไม่ง่ายนักในแง่ของการมีภาวะผู้นำที่ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในด้าน Personality Perspective และ Leader-Follower Process Perspective เรียกได้ว่า เป็นบุคคลที่จะปรากฏออกมาสักหนึ่งคนในรอบปลายสิบปีทีเดียว อย่างไรก็ดีเราคงต้องพึงระลึกว่า ภาวะความเป็นผู้นำแบบเหมาเจ๋อตงนั้น เกิดขึ้นมาภายใต้ภาวะวิกฤตอันหนักหน่วงและยืดเยื้อ ซ้ำยังเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกหลายประการ เช่น ภาวะขุนศึก ญี่ปุ่นรุกราน หรืออเมริกาเข้าแทรกแซง ฉะนั้นการนำไปประยุกต์ใช้ในเหตุการณ์ธรรมดาของธุรกิจประจำวัน ก็น่าจะเป็นการประยุกต์ใช้แบบไม่ถูกลักษณะนัก จึงน่าจะเหมาะสมกับการนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรที่อยู่ภายใต้ภาวะวิกฤต ที่ต้องการ ๆ เปลี่ยนแปลง (Change) และการเปลี่ยนรูป (Transform) เพื่อนำพาองค์กรให้พ้นปัญหาที่รุมเร้ารอบด้านและส่งผลให้แข่งขันอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ถึงแม้ว่าคุณสมบัติการนำของเหมาเจ๋อตงจะมีอยู่เองตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นแบบที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ เราอาจจะนำสิ่งที่เรียนรู้บางส่วนไปประยุกต์ใช้กับการบริหารบุคคลในองค์กรภาคธุรกิจได้ไม่ยากนัก กล่าวคือ สามารถเริ่มได้จากการพัฒนาตนเองให้มีลักษณะที่ดีของ Leadership Trait ให้ปรากฏ โดยที่ต้องเข้าไปศึกษาสภาพความเป็นจริงในการทำงานอย่างลึกซึ้ง และไม่กลัวที่จะยืนกรานในหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นลักษณะของ Determination และ Self-Confidence รวมไปถึงการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้องาน เรื่องบุคคล หรือเรื่องการพัฒนาแนวคิดเชิงบริหาร ซึ่งอยู่ภายใต้ Skills Approach จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาด้าน Leader-Follower Process  ซึ่งต้องการ ๆ ฝึกฝนด้านของการสื่อสาร การใช้คน การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น รวมไปถึงการมีวินัยในตนเองเพื่อให้ผู้อื่นได้เห็นเป็นแบบอย่าง

ท้ายที่สุด เราควรนำทักษะด้านภาวะผู้นำไปใช้อย่างระมัดระวัง และให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ร่วมของกลุ่ม และหลีกเลี่ยงการใช้ทักษะภาวะผู้นำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งในระยะยาวแล้ว ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อใครเลย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้น จากการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งกินเวลากว่า 10 ปี





ภาคผนวก
ภาคผนวก 1: แผนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน 


ภาคผนวก 2: ประวัติอย่างละเอียดของเหมาเจ๋อตง
           
            เหมาเจ๋อตง (26 ธันวาคม 1893 – 9 กันยายน 1976) เป็นทั้งนักปฏิวัติ เสนาธิการทหาร กวี ผู้คิดค้นทฤษฎีการเมือง และเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เหมาเจ๋อตงยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้ก่อตั้ง บิดา และผู้นำสูงสุดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาประเทศมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1949 อีกทั้งกุมอำนาจการปกครองเบ็ดเสร็จเหนือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงวาระแห่งอสัญกรรมในปีค.ศ. 1976

ชีวิตช่วงปฐมวัย

            เหมาเจ๋อตงเป็นบุตรชายของตระกูลชาวนาเจ้าของที่ดินในเมืองเสาซาน มณฑลหูหนาน ในยุคปลายของราชวงศ์ชิงภายใต้การปกครองของฉือซีไท่โฮ่ว (Pinyin: Cixi Taihou) หรือซูสีไทเฮา ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศจีนถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างหนักจากมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมในเมืองฉางซา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน ในระหว่างการปฏิวัติซินไฮ่ (ซินไฮ่เก๋อมิ่ง, Pinyin: Xinhai Geming) ในปีค.ศ. 1911 เขาได้เข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติในหูหนานเป็นเวลาสั้น ๆ และลาออกจากกองทัพเพื่อกลับไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยฝึกหัดครูแห่งมณฑลหูหนานในปีค.ศ. 1918 หลังจากนั้น ในปีค.ศ. 1919 เขาได้ติดตามอาจารย์หยางฉางจี (Pinyin: Yang Changji) ซึ่งเป็นอาจารย์จากวิทยาลัยฝึกหัดครูที่หูหนาน ไปที่เป่ยจิง เนื่องจากหยางฉางจีได้รับตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป่ยจิง และด้วยการแนะนำจากหยางฉางจี เหมาเจ๋อตงได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของหลี่ต้าจาว (Pinyin: Li Dazhao) ซึ่งหลี่ต้าจาวนี่เองได้มีอิทธิพลอันใหญ่หลวงต่อแนวคิดด้านการเมืองการปกครองต่อเหมาเจ๋อตง เขายังได้ลงทะเบียนเรียนในฐานะนักศึกษาไม่เต็มเวลา และเข้าเรียนในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยหลายวิชา ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับ เฉินตู๋ซิ่ว หูซื่อ และ เฉียนเสวียนถง ซึ่งต่างก็เป็นบุคคลสำคัญของที่ถ่ายทอดแนวปรัชญาของคอมมิวนิสต์ให้แก่เหมาเจ๋อตงในระยะเริ่มต้น

            ในวันที่ 23 กรกฎาคม 1921 เหมาเจ๋อตงซึ่งขณะนั้นอายุ 27 ปี ได้เข้าร่วมการประชุมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน สองปีหลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรรมการกลางของพรรค และในต้นปีค.ศ. 1927 เมื่ออายุ 34 ปี เหมาเจ๋อตงได้เดินทางไปสำรวจสภาพชีวิตและความตื่นตัวทางการเมืองของชาวนาด้วยตนเองในมณฑลหูหนาน กินเนื้อที่ 5 อำเภอ เป็นเวลา 32 วัน แล้วได้เขียน “รายงานสำรวจความเคลื่อนไหวของชาวนาในมณฑลหูหนาน” เพื่อเสนอต่อศูนย์การนำของพรรคขณะนั้น ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้เรียบเรียงจากข้อมูลต่าง ๆ และประสบการณ์ของตนเองในฐานะลูกชาวนาที่เคยทำนามาแต่เยาว์วัย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อการปฏิวัติในจีน เพราะภายในชั่วเวลา 20 ปีเศษ พรรคคอมมิวนิสต์ก็มีชัยชนะในการปฏิวัติ ซึ่งเป็นผลจากชัยชนะในสงคราวปฏิวัติของชาวนาจีนนั่นเอง

การต่อสู้ภายในพรรคและการเดินทัพทางไกล

             ในช่วงปี ค.ศ. 1927 เหมาเจ๋อตงเป็นกรรมการกรมการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรบริหารที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค อย่างไรก็ดี แนวคิดของเขาที่ถือเอาสงครามปฏิวัติของชาวนาเป็นหลัก ยังต้องผ่านการต่อสู้ภายในศูนย์การนำของพรรคอีกหลายปี กว่าเสียงข้างมากของแกนนำของพรรคจะให้การยอมรับ ด้วยเหตุที่ยังไม่สามารถได้รับการยอมรับนี้เอง ระหว่างค.ศ. 1927 ถึง 1934 พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้แนวทางการทำสงครามปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในเมืองเป็นหลัก ถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคกั๋วหมินต่างของเจี่ยงเจี้ยสือ และพ่ายแพ้ในการรบหลายครั้ง ในปีค.ศ. 1928 เหมาเจ๋อตงจึงรวบรวมกองทัพที่อ่อนเพลีย ไปตั้งฐานที่มั่นที่ภูเขาจิ่งกังซานที่อยู่ในเขตชนบทห่างไกล ยากที่กองทัพกั๋วหมินต่างจะเข้าถึง จากนั้นก็ริเริ่มใช้แนวทางการปฏิวัติที่ระดมชาวนาเป็นหลักของตนเองในการบริหาร จึงทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านกองทัพกั๋วหมินต่างได้อย่างยาวนาน ต่อมาฐานที่มั่นจิ่งกังซานได้กลายเป็นต้นแบบของสาขาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอื่นที่มองเห็นความสำเร็จของฐานแห่งนี้ และในปีค.ศ. 1929 เหมาเจ๋อตงย้ายฐานที่มั่นจากภูเขาจิ่งกังซาน ไปตั้งหลักที่เมืองญรุ่ยจิน (Pinyin: Ruijin) ซึ่งตั้งอยู่ที่รอยต่อระหว่างมณฑลเจียงซีและมณฑลฝูเจี้ยน

            อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของแกนนำพรรค ซึ่งนำโดยกลุ่ม 28 บอลเชวิค และที่ปรึกษาจากโซเวียตรัสเซียชื่อ อ็อตโต บราวน์ (Otto Braun) หรือที่เรียกกันเป็นชื่อภาษาจีนว่า หลี่เต๋อ (Pinyin: Li De) ทำให้กองทัพแดงสูญเสียกำลังพลอย่างใหญ่หลวงระหว่างยุทธการล้อมปราบคอมมิวนิสต์ของเจี่ยงเจี้ยสือทั้ง 5 ครั้ง ในระหว่างปีค.ศ. 1931-1934 และในการล้อมปราบครั้งที่ 5 นี้เอง กองทัพของกั๋วหมินต่างได้ทำการกระชับวงล้อม และทำความเสียหายแก่กองทัพแดงอย่างได้ผล ทำให้กำลังพลของกองทัพแดง ซึ่งเคยมีจำนวนกว่า 40,000 นาย ลดลงเหลือน้อยกว่า 10,000 นาย เดือนตุลาคม ค.ศ. 1934 ที่ประชุมพรรคจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ละทิ้งฐานที่มั่นญรุ่ยจินและฝ่าวงล้อมของทัพกั๋วหมินต่าง อันเป็นการเริ่มต้นของ “การเดินทัพทางไกล” (ฉางเจิง, Pinyin: Changzheng, English: The Long March) ซึ่งเป็นการถอยทัพเชิงยุทธศาสตร์ไปทางตะวันตก ระหว่างทางของการเดินทัพทางไกล กองทัพแดงต้องเผชิญกับการโจมตีของกองทัพกั๋วหมินต่างหลายครั้ง จนไปถึงเมืองจุนอี้ในมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งปลอดจากการคุกคามจากกองทัพกั๋วหมินต่างในระดับหนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์จึงเปิดประชุมใหญ่ที่เมืองจุนอี้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1935 เพื่อพิจารณาถึงความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เหมาเจ๋อตงจึงใช้โอกาสนี้โจมตีการบริหารที่ผิดพลาดของแกนนำพรรคอย่างหนักหน่วง อันทำให้ที่ประชุมเห็นชอบแก่แนวทางการปฏิวัติโดยชาวนาของเขา และด้วยเสียงสนับสนุนจากแกนนำพรรคเช่น โจวเอินไหล (Pinyin: Zhou Enlai) และ จูเต๋อ (Pinyin: Zhu De) ที่ประชุมมีมติ 17 ต่อ 3 ให้ภารกิจการเดินทางไกลเป็นไปตามแนวทางของเหมาเจ๋อตง ในเดือนมีนาคมค.ศ. 1935 นั้นเอง พรรคคอมมิวนิสต์ก็มีมติแต่งตั้งให้เหมาเจ๋อตงดำรงกรรมาธิการทหารของพรรค ภายใต้การนำทัพของเขา กองทัพแดงสามารถฝ่าการโจมตีของทัพกั่วหมินต่างหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่พึงกล่าวถึงคือ การนำทัพฝ่าวงล้อมศัตรูเพื่อข้ามแม่น้ำฉางเจียง (หรือแม่น้ำแยงซีเกียง) ขึ้นไปทางเหนือ การโจมตีเข้ายึดสะพานหลูติ้งที่พาดผ่านแม่น้ำต้าตู และสามารถเอาชนะกองทัพของขุนศึกมุสลิม หม่าปู้ฟาง ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเจี่ยงเจี้ยสือ ทางตอนใต้ของมณฑลชิงไห่ เพื่อฝ่าเข้าไปบรรจบกับกองทัพที่ 2 และกองทัพที่ 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์ทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี อันเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางทางไกล ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1935

            การเดินทัพทางไกลเป็นเส้นแบ่งสำคัญในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นหลักประกันให้แก่ความอยู่รอดของบรรดาทหารผ่านศึกของพรรคในการเข้าร่วมในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างค.ศ. 1937-1945 และได้สร้างมหากาพย์วีรกรรมให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย การเดินทัพทางไกลแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและคุณค่าแห่งระเบียบวินัยของพรรค รวมทั้งความยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างแรงกล้า ทั้งยังได้พัฒนาความสามารถในการทำสงครามจรยุทธของกองทัพแดง เป็นการตั้งต้นความเป็นผู้นำของเหมาเจ๋อตงได้หนักแน่นมั่นคง และได้ทำลายการพึ่งพิงอยู่กับคำแนะนำจากมอสโคว์ให้หมดสิ้นไปด้วย

            เมื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว การเดินทัพทางไกลครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านบวกต่อพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก ในการเดินทัพทางไกลทั้ง 368 วันนั้น มีการปะทะย่อยแทบทุกวัน รบกันอย่างตั้งมั่น 15 วัน 15 คืน เดินทางกลางวัน 235 วัน เดินทางกลางคืน 18 วัน ข้ามเทือกเขา 18 ลูก ที่มีหิมะปกคลุมอยู่ชั่วนาตาปี 5 เทือกเขา ข้ามแม่น้ำ 24 สาย ผ่านมณฑลต่าง ๆ ทั้งสิ้น 11 มณฑล ยึดเมืองต่าง ๆ ได้ 62 เมือง ตีฝ่าวงล้อมของทหารขุนศึกในมณฑลต่าง ๆ 10 มณฑล ทั้งนี้ นอกจากการเอาชนะ หลบหลีก และหลอกล่อกองกำลังของกั๋วหมินต่างครั้งแล้วครั้งเล่า ยังได้ผ่านท้องที่ ๆ มีชนส่วนน้อยที่ยังไม่พัฒนา 6 ท้องที่ด้วยกัน ได้บุกเข้าไปในดินแดนต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยมีกองทัพจีนใดเคยเข้าไปเลยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมานี้ การเดินทัพกินระยะทางทั้งหมดกว่า 2.5 หมื่นลี้ หรือ 9,650 กิโลเมตร คิดเฉลี่ยแล้วกองทัพแดงเดินทางได้วันละ 27 กิโลเมตร

            ในอีกแง่หนึ่ง การอพยพมหาชนจำนวนมากครั้งนี้ เป็นการเดินทางที่ติดอาวุธโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ กองทัพแดงเดินทางผ่านมณฑลต่าง ๆ ที่มีพลเมืองทั้งสิ้นกว่า 200 ล้านคน ระหว่างการสู้รบและปะทะกับข้าศึก เมืองที่เข้ายึดครอง ก็ได้มีการเรียกชุมนุมมวลชน มีการแสดงละคร รีดภาษีคนรวยอย่างหนัก ปลดปล่อย “ทาส” อีกมากมาย มีการให้การศึกษาประชาธิปไตย เสรีภาพและความเสมอภาค ริบทรัพย์สมบัติของพวก “ทรยศต่อชาติ” ซึ่งหมายถึง ขุนนาง เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ และเจ้าหน้าที่เก็บภาษี นอกจากนั้นยังมีการแจกจ่ายสินค้าข้าวของแก่ประชาชนที่ยากจน กล่าวโดยสรุปแล้ว คนยากจนนับล้านได้มีโอกาสพบเห็นกองทัพแดงกันแล้ว ได้ฟังคำพูด ไม่มีใครหวาดกลัวคอมมิวนิสต์กันอีกต่อไป คอมมิวนิสต์อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการปฏิวัติที่ดิน และนโยบายต่อต้านญี่ปุ่น ทำการติดอาวุธคนงานนับพัน และยังได้ทิ้งผู้ปฏิบัติงานไว้เบื้องหลัง เพื่อฝึกอบรมพลพรรคไว้ก่อกวนทหารกั๋วหมินต่าง ผู้คนนับพันอาจจะต้องถอนตัวออกจากการเดินทัพทางไกลที่ยืดเยื้อยาวนานและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ทว่าชาวนา ช่างฝีมือ ทาส ทหารหนีทัพกั๋วหมินต่างและคนงาน บรรดาผู้ที่ปราศจากสมบัติใด ๆ อีกนับพัน ก็มาเข้าร่วมด้วยจนเต็มกองทัพ

การสู้รบกับญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

            หลังจากที่เหมาเจ๋อตงได้นำพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพแดงผ่านการเดินทัพทางไกลจนลุล่วง และตัดสินใจสร้างฐานที่มั่นใหม่ที่เมืองเหยียนอาน (Pinyin: Yanan) ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซีได้เพียงปีเดียว ในปีค.ศ. 1936 กองทัพญี่ปุ่นในจีนใช้ข้ออ้างจากกรณีสะพานมาร์โคโปโล (Marco Polo Bridge Incident) บุกโจมตีจีนอย่างรุนแรง และเข้ายึดพื้นที่ทางตอนบนและตอนล่างของแม่น้ำฉางเจียงได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเมืองยุทธศาสตร์สำคัญเช่น เป่ยผิง (Pinyin: Beiping) หรืออดีตเป่ยจิง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ รวมไปถึงหนานจิง เมืองหลวงของสาธารณรัฐจีนของพรรคกั่วหมินต่าง ทำให้เจี่ยงเจี้ยสือถึงกับต้องย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองฉงชิ่ง (Pinyin: Chongqing) หรือจุงกิง ในมณฑลซื่อชวน (Pinyin: Sichuan) หรือเสฉวน ลึกเข้าไปทางตะวันตกของแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าระหว่างนั้นพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกั๋วหมินต่างยังมีการรบกันประปรายก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงได้เรียกร้องผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ให้มีการพักรบกับกั๋วหมินต่าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในจีน ยุทธศาสตร์หลักในการรบของเหมาเจ๋อตงคือ การรบแบบจรยุทธ (Guerilla Warfare หรือ Mobile Warfare) ซึ่งเน้นใช้จุดแข็งของตนเองเข้าโจมตีจุดอ่อนของศัตรู โดยไม่เน้นการยึดครองพื้นที่ แต่เน้นการทำลายกำลังพลของศัตรูเป็นหลัก บรรดาแกนนำผู้เป็นเสาหลักของพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพแดงในช่วงนี้ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้คือ โจวเอินไหล จูเต๋อ เผิงเต๋อหวาย หลินเปียว หลิวป๋อเฉิง เฮ่อหลง เฉินอี้ เนี่ยญร๋งเจิน เยี่ยเจี้ยนอิง และเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งทั้งหมดต่างก็เป็นกำลังสำคัญของเหมาเจ๋อตงที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของพรรค

            แม้ว่าเจี่ยงเจี้ยสือจะตกลงพักรบกับพรรคคอมมิวนิสต์และร่วมมือกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ลักพาตัวเขาที่ซีอาน (Xi’an Incident) เมื่อต้นปีค.ศ. 1937 ก็ตาม พันธมิตรครั้งที่สองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และกั๋วหมินต่าง ก็ไม่ได้เป็นไปด้วยความจริงใจ โดยที่เจี่ยงเจี้ยสือเลือกใช้ยุทธศาสตร์ “คอยดูไป” (Wait and See) ระหว่างสงครามกับญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงการหลีกเลี่ยงการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อสงวนกำลังพลส่วนใหญ่ของตนเอง โดยให้ทัพส่วนนี้ไปล้อมฐานที่มั่นที่เหยียนอานเป็นหลัก ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้แสดงความตั้งใจจริงอย่างเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งในการต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับความรู้สึกที่ดีจากมวลชนชาวจีนส่วนใหญ่ และยินดีให้ความร่วมมือต่าง ๆ กับพรรคคอมมิวนิสต์ในการเข้าสู้รบกับญี่ปุ่น ระหว่างนี้เองที่สหรัฐอเมริกาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในจีน โดยให้การสนับสนุนทางการเงินและการทหารแก่ทั้งพรรคกั่วหมินต่างและพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ทั้งสองพรรคสามารถยับยั้งการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สงครามปลดปล่อยประชาชน

            ภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้พรรคกั๋วหมินต่างและพรรคคอมมิวนิสต์จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น การเจรจาปรองดองเกิดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 ที่เมืองฉงชิ่ง ในการนี้ เหมาเจ๋อตงตัดสินใจเสี่ยงอันตรายเดินทางกับคณะไปเจรจาที่ฉงชิ่งด้วยตนเอง ตามคำเชิญของผู้แทนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แพทริก เฮอร์ลีย์ (Patrick Hurley) และบรรลุข้อตกลงปรองดองกับพรรคกั๋วหมินต่างในวันที่ 10 ตุลาคม 1945 อย่างไรก็ดี แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นฝ่ายยอมถอยให้มากกว่าพรรคกั๋วหมินต่าง เจี่ยงเจี้ยสือเห็นว่าฝ่ายตนมีความได้เปรียบแม้ว่าจะต้องรบกันภายหลัง จึงละเมิดข้อตกลงปรองดองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง โดยที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนพรรคกั๋วหมินต่างอย่างเปิดเผย ในขณะที่สหภาพโซเวียตไม่สามารถแสดงตนว่าเป็นผู้หนุนหลังพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากขณะนั้นสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่มีอำนาจควบคุมอาวุธปรมณู

            พรรคคอมมิวนิสต์ตกเป็นฝ่ายตั้งรับในช่วงต้นของสงคราม เนื่องจากฝ่ายกั่วหมินต่างมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกา เหมาเจ๋อตงจึงเลือกยุทธศาสตร์การรบแบบจรยุทธ และซุ่มโจมตีให้กองทัพกั๋วหมินต่างเหนื่อยล้า โดยไม่เน้นการยึดครองพื้นที่ ระหว่างสงครามนี้เอง พรรคคอมมิวนิสต์พบว่ามวลชนชาวจีนให้การสนับสนุนตนอย่างท่วมท้น เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์แสดงให้เห็นถึงความหวัง ความจริงใจที่จะปฏิรูป และปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นเบียดเบียนประชาชนอย่างพรรคกั๋วหมินต่าง หลังจากที่เหมาเจ๋อตงได้ประเมินสถานการณ์ด้านมวลชนและด้านความพร้อมทางการทหารแล้ว จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบจากสงครามจรยุทธ เป็นสงครามเต็มรูปแบบที่มุ่งทำลายกำลังหลักของศัตรูและยึดครองพื้นที่เป็นหลัก และออกคำสั่งให้กองทัพปลดแอกประชาชน ดำเนินยุทธการรุกพร้อมกันในสมรภูมิใหญ่พร้อมกัน 3 แห่ง การรุกครั้งใหญ่ที่ควรกล่าวถึงมี ยุทธการเหลียว-เสิ่น ยุทธการหวยห่าย และยุทธการผิง-จิน

ยุทธการเหลียว-เสิ่น (กันยายน-พฤศจิกายน ค.ศ. 1948) ดำเนินในด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ นำทัพโดยหลินเปียว นำทัพจากเมืองฮาเอ๋อปิน (Pinyin: Harbin) เข้าล้อมและยึดครองเมืองฉางชุน เสิ่นหยาง และจิ้นโจว กวาดล้างกองทัพปฏิวัติของพรรคกั๋วหมินต่างได้กว่า 4.5 แสนคน ทำให้ยึดครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือแมนจูเรียได้ทั้งหมด ในขณะที่ยุทธการหวยห่าย (พฤศจิกายน 1948 – มกราคม 1949) นำทัพโดยหลิวป๋อเฉิง เฉินอี้ และเติ้งเสี่ยวผิง ดำเนินการรบในภาคตะวันออกของประเทศกินเนื้อที่ในมณฑลเหอหนาน ซานตง อานฮุย และเจียงซู สามารถกวาดล้างฝ่ายกั่วหมินต่างได้กว่า 5.5 แสนคน และยึดครองเมืองสำคัญเช่น จี้หนาน และซูโจว ซึ่งเป็นประตูสำคัญไปสู่หนานจิง เมืองหลวงของกั๋วหมินต่าง นั่นหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองภาคตะวันออกได้ทั้งหมด ส่วนยุทธการผิง-จิน (พฤศจิกายน 1948 – มกราคม 1949) เป็นยุทธการที่ต่อเนื่องจากยุทธการเหลียว-เสิ่น นำทัพโดยหลินเปียว และเนี่ยญร๋งเจิน มีจุดมุ่งหมายที่จะยึดมณฑลทางภาคเหนือทั้งหมด รวมไปถึงเมืองจางเจียโข่ว เป่ยผิง และเทียนจิน โดยเหมาเจ๋อตงออกคำสั่งให้ทัพของหลินเปียวที่เหน็ดเหนื่อยจากชัยชนะจากยุทธการเหลียว-เสิ่น ให้รีบเดินทางข้ามด่านซานห่ายกวน (Pinyin: Shanhai Guan) ซึ่งเป็นด่านด้านตะวันออกสุดของกำแพงหมื่นลี้ เข้าไปยังดินแดนภาคเหนือใกล้เป่ยผิงและเทียนจิน เพื่อเข้ายึดกุมพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต่อการรบ หลังจากกองทัพปลดแอกประชาชนสามารถยึดครองเทียนจินและจางเจียโข่ว และกวาดล้างทัพฝ่ายตรงข้ามกว่า 5.2 แสนคนได้แล้ว เมืองเป่ยผิงก็ตกอยู่ในภาวะคับขัน และในฐานะที่เป็นเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เป่ยผิงเป็นสถานที่ ๆ มีโบราณสถานและวัตถุมีค่าของชาติมากมาย อีกทั้งเพื่อรักษาความสูญเสียของประชาชนจากการรบกันของสองฝ่าย แม่ทัพฝ่ายกั๋วหมินต่าง ฟู่จั้วอี้ (Pinyin: Fu Zuoyi) ได้ติดต่อมายังพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อขอเปิดเจรจายอมแพ้ ซึ่งเหมาเจ๋อตงก็ตอบรับด้วยความยินดี จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ “ปลดปล่อยเป่ยผิงด้วยสันติ” ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1949

            ผลของยุทธการเหลียว-เสิ่น หวยห่าย และผิง-จิน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถกวาดล้างกองทัพที่มีความแข็งแกร่งที่สุดของพรรคกั๋วหมินต่าง กว่า 1.5 ล้านคน แม้ว่ากั๋วหมินต่างยังมีกำลังพลเหลืออยู่อีกประมาณ 1.2 ล้านคน กำลังพลเหล่านี้เป็นเพียงทหารเกณฑ์ฝึกหัดที่ไม่มีประสบการณ์ในการรบ ทำให้แม้มีจำนวนมาก ก็เหมือนมีจำนวนน้อย

หลังจากที่เป่ยผิงถูกปลดปล่อยแล้ว ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถควบคุมพื้นที่ของจีนด้านเหนือของแม่น้ำฉางเจียง (หรือแม่น้ำแยงซีเกียง) ได้ทั้งหมด ทำให้เมืองหนานจิง เมืองหลวงของกั๋วหมินต่างที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งใต้ ตกอยู่ในภาวะอันตราย เจี่ยงเจี้ยสือประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ยังคงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกั๋วหมินต่างและอำนาจสั่งการกองทัพไว้ หลี่จงเญริ๋น (Pinyin: Li Zhongren) รักษาการประธานาธิบดี ได้ขอเปิดเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเหมาเจ๋อตงก็ตกลงเจรจาด้วย โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ยื่นเงื่อนไข 8 ข้อให้พรรคกั๋วหมินต่างปฏิบัติตาม เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถปลดปล่อยจีนภาคใต้ด้วยสันติ ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขที่เจี่ยงเจี้ยสือไม่อาจยอมรับได้ จึงปฏิเสธเงื่อนไขทุกประการของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้การเจรจาล้มเหลว เหมาเจ๋อตงจึงตัดสินใจออกคำสั่งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนยกพลข้ามแม่น้ำฉางเจียงในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1949 และอีกสองวันต่อมาก็สามารถเข้ายึดครองหนานจิงในวันที่ 23 เมษายน ส่วนรัฐบาลกั๋วหมินต่างถอนตัวออกจากหนานจิงในวันเดียวกันไปตั้งหลักที่กว่างโจว และถอยอีกครั้งไปที่ฉงชิ่งในเดือนตุลาคม ในเดือนพฤศจิกายนก็ถอยไปที่เฉิงตูในมณฑลซื่อชวน และในที่สุด ถอนทัพไปไต้หวันในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1949 เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์ ได้จัดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมือง (Chinese  People’s Political Consultative Conference: CPPCC) ซึ่งเป็นสภาที่จัดตั้งโดยดร.ซุนอี้เซียน โดยเชิญผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคในจีน รวมถึงพรรคกั๋วหมินต่างปีกซ้าย ในมาประชุมกันเพื่อเตรียมการสถาปนาประเทศจีนใหม่ ในฐานะประเทศใหม่ที่จัดตั้งโดยเจตนารมย์ของประชาชนทุกฝ่าย และมีการตกลงถึงเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น ชื่อประเทศ ธงชาติ เพลงชาติ นโยบายการเมือง นโยบายเศรษฐกิจ เป็นต้น พรรคการเมืองและบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มี พรรคกั๋วหมินต่างปีกซ้าย พรรคสันนิบาตประชาธิปไตยจีน มาดามซุนอี้เซียน ซ่งชิ่งหลิง เป็นต้น การประชุมในครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของการก่อตั้งประเทศ เพราะแสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มีนโยบายที่จะกระทำการใด ๆ โดยอำเภอใจอย่างที่พรรคกั๋วหมินต่างเคยทำในหลายสิบปีที่ผ่านมา ในที่สุด เหมาเจ๋อตง ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949

               

เหมาเจ๋อตงในฐานะผู้นำประเทศ

ภารกิจของเหมาเจ๋อตงหลังจากที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน คือการฟื้นฟูประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจซึ่งบอบช้ำอย่างหนักมาตั้งแต่ยุคขุนศึก แกนนำพรรคที่สำคัญที่รับหน้าที่นี้คือ โจวเอินไหล หลิวซ่าวฉี เฉินหยุน และเติ้งเสี่ยวผิง ต่างก็ได้รับหน้าที่สำคัญในกระทรวงต่าง ๆ เพื่อพลิกฟื้นประเทศให้กลับมาสู่ภาวะปกติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับแรก ซึ่งบังคับใช้ในปีค.ศ. 1942-1947 ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทำให้เหมาเจ๋อตงตัดสินใจออกนโยบาย “เศรษฐกิจก้าวกระโดด” (Great Leap Forward) ในปีค.ศ. 1948 ท่ามกลางการคัดค้านของหลายฝ่าย โดยเฉพาะหลิวซ่าวฉีและเติ้งเสี่ยวผิง ที่เห็นว่าเป็นนโยบายที่ตั้งเป้าหมายเกินความเป็นจริง และเน้นการเพิ่มผลผลิตโดยเน้นแรงงานเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เสนอแรงจูงใจแก่ประชาชนให้มีใจเพิ่มผลผลิตตามเป้าหมายที่ภาครัฐวางไว้ ดังนั้น ผลที่ตามมาของเศรษฐกิจก้าวกระโดดคือภาวะอดอยากอย่างรุนแรง เนื่องจากผลผลิตด้านอาหารต่ำกว่าที่วางเป้าหมายไว้อย่างมาก และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 16-20 ล้านคนในภาวะอดอยากครั้งนี้ ผลของเศรษฐกิจก้าวกระโดด ทำให้เหมาเจ๋อตงตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ และก่อให้เกิดรอยร้าวอย่างหนักระหว่างเหมาเจ๋อตงและสมาชิกแกนนำพรรคอย่างชัดเจน เช่น เผิงเต๋อหวาย หลิวซ่าวฉี และเติ้งเสี่ยวผิง ความขัดแย้งดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ความกดดันทางการเมือง และก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นั่นคือ เหมาเจ๋อตง ได้ร่วมมือกับหลินเปียว จางชิง และแก๊งค์สี่คนใต้สังกัดของจางชิง ดำเนินนโยบาย “ปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) ซึ่งทำให้ประเทศจีนตกอยู่ภาวะที่ดำมืดกว่าหนึ่งทศวรรษ

การปฏิวัติวัฒนธรรม

การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นการปฏิวัติจากชนชั้นกรรมาชีพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นรัฐสังคมนิยมอย่างแท้จริง ต่อมาจึงเรียกว่าการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองหลังจากที่เหมาเจ๋อตงลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมามีบทบาทในการบริหารประเทศ โดยมีแนวทางหลัก คือ การเริ่มรื้อฟื้นงานบริหารบุคคล ใช้แรงจูงใจให้ทั้งโบนัสและโอที มีความดีความชอบสำหรับคนขยันและทำงานประสบความสำเร็จ จนถึงขั้นส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถให้ชำนาญ นอกจากนั้นยังจัดการการผลิตในด้านต่าง ๆ พยายามใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ แทนการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามหลักการดังกล่าวสวนทางกับหลักคิดพื้นฐานของเหมาเจ๋อตง เพราะเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มใช้หลักการแบบทุนนิยมและกำลังมีแนวโน้มที่จะนำประเทศไปสู่ระบบทุนนิยมด้วย

ในขณะที่เหมาเจ๋อตงซึ่งยังคงมีอำนาจอยู่ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น เขาจึงให้มีการปรับเปลี่ยนโดยตั้งคณะกรรมการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้น แต่คณะกรรมการชุดนั้นเป็นคนของเติ้งเสี่ยวผิงเสียเอง ทำให้ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเหมาเจ๋อตง ดังนั้นในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1966 เขาจึงให้เจียงชิงซึ่งเป็นภรรยา ตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งแทนกลุ่มเดิม และนับจากวันนั้นถือเป็นหลักหมายของการเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรม

คณะกรรมการชุดใหม่ประกอบด้วยแกนนำหลัก 4 คนจึงเรียกว่า แก๊งค์ 4 คน (Gang of Four) อันประกอบด้วย เจียงชิง หวางหงเหวิน เหยาเหวินหยวน และจางชุนเฉียว มีนโยบายหลักคือต่อต้านแนวคิดแบบทุนนิยม ให้ประชาชนนำตำราเก่า ๆ ที่เป็นทุนนิยมมาทำลายเสีย ช่วงปีค.ศ. 1966-1967 ความคิดนี้แผ่ขยายไปทั่ว แต่ยังคงมีผู้สนับสนุนเติ้งเสี่ยวผิงอยู่ เจียงชิงจึงให้พลังประชาชนจัดตั้ง “กองกำลังเรดการ์ด” (Red Guard) เพื่อต่อต้านผู้ที่มีแนวคิดแบบทุนนิยม โดยเริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเป่ยจิงก่อน ต่อมากองกำลังได้แผ่ลงมาถึงชั้นมัธยมและประถม ขบวนการนี้ได้ขยายออกไปทั่ว มีเจียงชิงชูภาพเหมาประดุจเทพเจ้า จนมีผู้ร่วมขบวนการนับแสนคน

กลางปีค.ศ. 1967 การปฏิวัติรุนแรงขึ้น กลุ่มผู้นำหลายคนถูกจับ บางคนถูกทรมานจนเสียชีวิต เวลานั้นทหารไม่กล้าออกมาปราบเรดการ์ด เพราะขบวนการนี้ล้วนมีแต่เยาวชนของชาติที่ทำไปเพราะถูกปลุกปั่นจากกลุ่มของเจียงชิงและจากพวกผู้นำรัฐบาลขบวนการนี้เริ่มหันมาจับผิดคนในระดับเดียวกัน เช่น เด็กประถมหาว่าครูตนเองเป็นทุนนิยมก็ทำร้ายครู ทำให้คนเริ่มไม่ไว้ใจกัน เช่น สามี-ภรรยา เพื่อน-เพื่อน เกิดเป็นยุคแห่งความหวาดกลัว ไม่มีใครอยู่เป็นสุข ผลจากการปฏิวัติในครั้งนี้ประมาณกันว่ามีคนตายมากกว่าสองล้านคน

ประมาณ ค.ศ. 1969 โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง จึงเริ่มส่งกองกำลังเรดการ์ดไปสัมผัสชีวิตของกรรมาชีพตามโรงงานและชนบท ในขณะที่กลุ่มของเจียงชิงพยายามหาเหตุผลมากำจัดโจวเอินไหล แต่ไม่สำเร็จ หลังจากคุมสถานการณ์ได้ เขาเริ่มปรับงานต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง รวมทั้งให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงกลับมาทำงาน เขายังคงนำแนวคิดแบบเดิม คือ แบบทุนนิยมมาปรับใช้มากขึ้น ทำให้กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมไม่พอใจมาก และจ้องหาทางกำจัดเติ้งเสี่ยวผิงให้ได้ เดือนมกราคม ค.ศ. 1976 โจวเอินไหลถึงแก่อสัญกรรม และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นกองกำลังเรดการ์ดออกมาชุมนุมเพื่อปลดเติ้งเสี่ยวผิงอีกครั้งจนเป็นผลสำเร็จ

ในช่วงค.ศ. 1970 เริ่มมีคนรู้ว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของเหมาเจ๋อตง โดยมีเจียงชิงเป็นแกนนำ ปลายหอกทั้งหมดจึงเริ่มพุ่งเข้าหาเจียงชิง ประกอบกับกองกำลังเรดการ์ดโตขึ้นและเริ่มคิดได้ว่าพวกตนไม่มีความรู้ติดตัวเลย กองกำลังบางส่วนจึงเริ่มกลับเข้าเมืองมาเรียนและใช้ชีวิตตามปกติ

วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1976 ประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมกันที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อไว้อาลัยแด่โจวเอินไหล พวกกองกำลังเรดการ์ดที่เหลือจึงออกมาปราบปรามประชาชน เกิด “กรณีชิงหมิง” ขึ้น ยอดผู้เสียชีวิตไม่ทราบจำนวน กล่าวกันว่าต้องใช้คนทำความสะอาดถึงสามวันสามคืน ขณะนั้นยังถือได้ว่าอำนาจของเจียงชิงและเหมาเจ๋อตงยังมั่นคงอยู่ แต่หลังจากเหมาเจ๋อตงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 วันที่ 6 ตุลาคม ในปีเดียวกันกลุ่มของเติ้งเสี่ยวผิงเข้าปราบแก๊งค์ 4 คน สำเร็จ ซึ่งทั้ง 4 คนถูกจองจำและทยอยเสียชีวิตในเวลาต่อมา ปีค.ศ. 1976 จึงเป็นอันสิ้นสุดแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม




ภาคผนวก 3: ภาพเหมาเจ๋อตงและบุคคลสำคัญอื่น ๆ

เหมาเจ๋อตงในโอกาสต่าง ๆ
เหมาเจ๋อตง ปีค.ศ. 1921
เหมาเจ๋อตง ปีค.ศ. 1927
เหมาเจ๋อตง ปีค.ศ. 1931
เหมาเจ๋อตงในพิธีสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1949
เหมาเจ๋อตงจับมือกับประธานาธิบดี นิ๊กซ์สัน ค.ศ. 1972

แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์
โจวเอินไหล
(Zhou Enlai)
จูเต๋อ
(Zhu De)
เผิงเต๋อหวาย
(Peng Dehuai)
หลินเปียว
(Lin Biao)
หลิวป๋อเฉิง
(Liu Bocheng)

เนี่ยญร๋งเจิน
(Nie Rongzhen)
เยี่ยเจี้ยนอิง
(Ye Jianying)
หลิวซ่าวฉี
(Liu Shaoqi)
เติ้งเสี่ยวผิง
(Deng Xiaoping)
เฉินหยุน
(Chen Yun)

บุคคลสำคัญอื่น ๆ
ซุนอี้เซียน/ซุนยัตเซ็น
(Sun Yixian)
เจี่ยงเจี้ยสือ/เจียงไคเช็ค
(Jiang Jieshi)
ซ่งชิ่งหลิง
(Song Qingling)
หวางหมิง
(Wang Ming)
อ๊อตโต บราวน์/หลี่เต๋อ
(Otto Braun / Li De)



บรรณานุกรม

1.     ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. เมษายน 2542
2.     วรศักดิ์ มหัทธโนบล. ครองแผ่นดินจีน พรรค ผู้นำ อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2554.
3.     กองบรรณาธิการ. Open Dragon China & East Asia Journal. No. 1. สำนักพิมพ์ open books. ตุลาคม 2547.
4.     บุญศักดิ์ แสงระวี. ศิลปะการใช้คนของเหมาเจ๋อตง. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. พิมพ์ครั้งที่ 1. สิงหาคม 2548.
5.     เล่าชวนหัว. รบแบบเหมาเจ๋อตง. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์คุณธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. ตุลาคม 2553.
6.     บุญศักดิ์ แสงระวี. บทนิพนธ์เหมาเจ๋อตง ว่าด้วยปรัชญาและการใช้ปรัชญา. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.พฤศจิกายน 2550.
7.     Peter G. Northouse. Leadership theory and practice. Fifth edition. SAGE Publications, Inc., 2010


ข้อมูลเว็บไซท์

 




1 ความคิดเห็น:

  1. การวิเคราะห์ดีเยี่ยม สามารถใช้ศึกษาประกอบการเรียนรู้ การทำวิจัย ภาวะผู้นำ ได้อย่างดี ขอบคุณข้อความดีดีอีกครั้ง

    ตอบลบ