วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มองวิวัฒนาการของสังคมจีน ผ่านศิลปะแบบ Socialist Realism

บอกเล่าเรื่องราวการวิวัฒนาการของสังคม ความคิด ค่านิยม ความเชื่อของจีน ตั้งแต่ยุคปี ค.ศ.1949-1997 ผ่านศิลปะแบบ Socialist Realism ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะที่พัฒนาโดยประเทศโซเวียตยูเนี่ยนรัซเซีย เป็นประเทศแรก เพื่อให้ศิลปะชนิดนี้ฉายภาพการยกย่องเชิดชูเกียรติของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพ หรือผู้ใช้แรงงานนั่นเอง และแน่นอนที่สุดว่าศิลปะที่พัฒนาด้วยวัตถุประสงค์แบบนี้ ย่อมนำไปใช้กันในแวดวงของประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมเท่านั้น


ยุคปีค.ศ. 1949-1958
ช่วงเวลานี้เป็นยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเพิ่งจะสามารถเข้ายึดครองอำนาจรัฐได้ไม่นาน ดังนั้นวาระแห่งชาติที่สำคัญของรัฐบาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำอย่างแสนสาหัสจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามกลางเมือง เป็นช่วงเวลาที่เหล่าทหารผ่านศึกถึงคราวต้องปลดระวางและกลับไปที่ไร่นาของตนเพื่อทำมาหากิน บางส่วนก็กลับไปใช้ชีวิตในตัวเมืองและเลือกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นภาครัฐจึงใช้ศิลปะแบบ Socialist Realism เพื่อรณรงค์และให้แนวทางการปฏิบัติต่อประชาชนในแง่มุมต่าง ๆ เช่น "ทำเกษตรกรรมอย่างไรถึงจะให้ผลผลิตที่งอกงาม" "แมลงชนิดใดที่ควรกำจัดอย่างเร่งด่วน" "เด็กๆที่เข้าเรียนในโรงเรียนควรช่วยสอนบิดามารดาให้รู้จักตัวอักษรย่อแบบใหม่" และที่สำคัญที่สุด "เป็นฮีโร่ในสนามรบ เฉกเช่นกับเป็นฮีโร่ในไร่นา" และ"อุทิศเรี่ยวแรงทั้งหมดให้สังคมนิยม" เป็นต้น



ยุคนโยบายก้าวกระโดด ปีค.ศ. 1958-1961
เป็นยุคที่เหมาเจ๋อตงมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยรณรงค์ให้มีการเพิ่มผลผลิตโดยเน้นการใช้แรงงานที่เข้มข้น ดังนั้นศิลปะในยุคนี้จึงสะท้อนถึงภาพของการร่วมแรงร่วมใจ รวมพลังสามัคคี อันจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งผลิตภาพตามที่รัฐได้กำหนดเอาไว้ได้




ทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม ปีค.ศ. 1966-1976
เป็นยุคแห่งความวุ่นวาย ยุคแห่งการปลุกระดมความเกลียดชังเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง โดยการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นมีนโยบายหลักคือต่อต้านแนวคิดแบบทุนนิยม ให้ประชาชนนำตำราเก่า ๆ ที่เป็นทุนนิยมมาทำลายเสีย ช่วงปีค.ศ. 1966-1967 ความคิดนี้เริ่มแผ่ขยายลุกลามอย่างรวดเร็ว มีการจัดตั้ง “กองกำลังเรดการ์ด” (Red Guard) เพื่อต่อต้านผู้ที่มีแนวคิดแบบทุนนิยม โดยเริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเป่ยจิงก่อน ต่อมากองกำลังได้แผ่ลงมาถึงชั้นมัธยมและประถม ขบวนการนี้ได้ขยายออกไปทั่ว มีการชูภาพเหมาเจ๋งตงประดุจเทพเจ้า จนมีผู้ร่วมขบวนการนับแสนคน
ศิลปะ Socialist Realism ในช่วงนี้โดยมากจะเน้นหนักเรื่องการปลุกระดมให้ประชาชนเกลี่ยดชังความคิดแบบทุนนิยม และควรปฏิบัติตามแนวทางของท่านผู้นำ (ซึ่งก็คือเหมาเจ๋อตง) อันเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศจีน มีการใช้ศิลปะเพื่อประณามฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน เช่น "เราควรประณามเติ้งเสี่ยวผิงให้หนัก และสไตรค์ต่อสู้กับแนวคิดที่ทำให้ลมเปลี่ยนทิศ (แนวคิดแบบทุนนิยม)"

จะสังเกตุว่าแทบทุกรูปในยุคนี้ ทุกคนจะถือสมุดสีแดงๆ เล่มเล็กๆ น่ารักๆ อยู่ในมือแทบทุกคน คงไม่ต้องบอกนะว่ามันคืออะไร




ยุคเติ้งเสี่ยวผิง ปีค.ศ. 1978-1997
เป็นจุดสิ้นสุดของยุคมืดแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม และเป็นจุดกำเนิดของการปฏิรูปประเทศครั้งใหม่ เพื่อความกินดีอยู่ดี ความผาสุข และเกียรติภูมิของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ยังดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐาน 4 ข้อที่ยังจะต้องคงไว้ซึ่งความเป็นสังคมนิยมสากล และระบอบประชาธิปไตยที่"เผด็จอำนาจโดยประชาชน" (เป็นชื่อแห่งระบอบการปกครองอย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ดังได้สะท้อนให้เห็นจากศิลปะ Socialist Realism ในยุคนี้เช่นเดียวกัน

ในยุคนี้มีการรณรงค์หลายเรื่อง เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปโดยไม่ติดขัด เช่น รณรงค์ให้ประชาชนรักษาความสะอาด รณรงค์ให้มีการวางแผนครอบครัว เพื่อจำกัดอัตราเกิดของประชากรซึ่งพุ่งสูงขึ้นมากในยุคของเหมาเจ๋อตง (เนื่องจากเหมาเจ๋อตงมีความเชื่อว่า การผลิตด้วยการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงสนับสนุนให้คนจีนมีลูกกันหลายๆคน จำนวนประชากรจึงพุ่งจาก 400 ล้านคนในยุคสงครามกลางเมือง มาอยู่ที่ 800 ล้านคนเมื่อเหมาเจ๋อตงถึงอสัญกรรม)

นอกจากนี้ในยุค 1980's เป็นยุคที่ประเทศจีนเปิดประเทศใหม่ ๆ และเริ่มมีวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา เริ่มมีสถานที่เต้นรำแบบร่วมสมัย (ดิสโก้เธค) และยังเป็นยุคที่ประเทศจีนเริ่มแสดงศักยภาพและสร้างเกียรติภูมิด้วยการสร้างผลงานได้อย่างดียิ่งจากกีฬาโอลิมปิก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น